การเมืองวัคซีน : นายกฯจ่อแจ้งความ “แอคแคป” อ้างติดต่อรบ. “ชัยวุฒิ” เตือนประชาชน รับฟังข้อมูลรอบด้าน

‘ประยุทธ์’ จ่อแจ้งความ บ.แอคแคป อ้างเคยติดต่อกับรัฐบาล โต้ปม วัคซีนการเมือง ระบุ คุยพรรคร่วมหมดแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เผย คืบหน้า วัคซีนซิโนฟาร์ม “ชัยวุฒิ” เตือนประชาชน รับฟังข้อมูลรอบด้าน รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง เข้าข่ายเฟกนิวส์หรือไม่ ถ้าเสียหายให้ร้องเข้ามา

วันที่ 28 พ.ค.2564 ที่ศูนย์การค้า เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อสักถามจะมีการแจ้งความเอาผิดกับบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่อ้างว่าเคยติดต่อกับรัฐบาลหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่จะดำเนินการต่อไป คงไม่ต้องมาถามล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนการกระจายวัคซีน แอสตราเซเนกา ที่จะเข้ามาในเดือนมิ.ย.ยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วัคซีนทั้งหมดที่จะเข้ามาในเดือนมิ.ย.จะกระจายภายในเดือนมิ.ย.ทั้งหมด โดยจะกระจายไปให้ได้มากที่สุดและได้มอบนโยบายไปแล้ว ซึ่งได้บอกไปแล้วว่า เราจำเป็นต้องกระจายวัคซีนเป็นรายเดือน ไม่เช่นนั้นก็ต้องวางแผนไป 6 เดือน แล้วจะได้ตามนั้นหรือไม่หละ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เพราะวัคซีนมาเป็นช่วง ๆ ในแต่ละเดือนและการกระจายไปตามจุดต่าง ๆ จึงจำเป็นจะต้องวางแผนตรงนี้ ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดขึ้นมาใหม่ก็คงเป็นไปตามแผนได้ แต่ในเมื่อมีการแพร่กระจายและมีการระบาดสูงในบางพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีการปรับในการนำวัคซีนเข้าไปในแต่ละพื้นที่ “ผมยืนยันแล้วกันว่า ทุกคนจะได้รับการฉีดอย่างแน่นอน”

เมื่อถามว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม จะยังได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าได้ฉีดทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ได้ฉีดทั้งหมด ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมหรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่จะทำให้รวดเร็วมากขึ้น โดยเมื่อวานเพียงวันเดียวได้ 1 ล้านกว่าราย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เพียงแต่วันนี้ต้องทำให้ระบบ “หมอพร้อม” รองรับคนที่ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นอื่นด้วย เพื่อนัดและติดตามผลการฉีดวัคซีน ทุกคนจะต้องได้รับการติดตามจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน นี่คือการรับผิดชอบและการออกใบรับรอง รัฐบาลทำขนาดนี้ ส่วนจะมีความยุ่งยากหรือไม่อย่างไร ก็ต้องไปเก็บกันเอาเอง ขอร้องว่าอย่าไปคิดเพียงชั้นเดียวมันไม่ได้

ถามต่อว่า ในบางจังหวัดยังไม่มีแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกจังหวัดมีหมดอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยยืนยันแล้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตามฉีดกันให้ทั้งหมดแล้ว

เมื่อถามถึงวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนซิโนฟาร์ม มีความคืบหน้าอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็มีบริษัทเข้ามาติดต่อเป็นทางการแล้วกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งอย.ขึ้นทะเบียนแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจานำเข้า โดยต้องเข้าตามช่องทางที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายตามมาตรการ ถ้าไม่เข้าตามช่องก็มาไม่ได้ จะมาพบใครก็ไม่ได้ เพราะตนไม่ได้มีหน้าที่ตรงนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของ อย. และ องค์การเภสัชกรรม (อภ.)

เมื่อถามว่าในส่วนของวัคซีนการเมืองที่ยังมีความเห็นต่างกันในพรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไร นายกฯ ได้หันหน้าไปมอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมกล่าวว่า “ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ผมเข้าใจกันหมดทุกประการ ผมยืนยันตรงนี้ ต่อหน้านายอนุทิน เมื่อวานนี้ผมก็คุยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรจะมีปัญหาก็เพราะมีคนยุแยงตะแคงรั่วอยู่แถวนี้นั่นแหละ ไม่เห็นมีปัญหาตรงไหน

“การจะปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ผมก็ปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ว่า อะไรดี อะไรใช่หรือไม่ใช่ อะไรต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ผมก็ฟังในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในทุกระดับ ด้านสาธารณสุขเราก็ต้องฟัง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็เข้าสู่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีผมเป็นผอ.แล้วผมจะไปสั่งอะไรได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าผมจะไปเข้าข้างใครทั้งนั้นแหละ ผมต้องบูรณาการในการทำงานจากข้อกำหนดทุกประการ นี่คือหน้าที่ของผมตามข้อมูลที่หลายฝ่ายเสนอขึ้นมา ก็แค่นั้นเองอย่าไปตีกัน บ้านเมืองวุ่นวายพออยู่แล้ว หยุด ๆ กันเสียบ้าง”

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ระบุติดต่อตัวแทนรัฐบาลเพื่อขอนำเข้าวัคซีนชิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส แต่ทางรัฐบาลออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แบบนี้ถือเป็นเฟกนิวส์ต้องดำเนินการอะไรอย่างไรหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นข่าวปลอมหรือไม่ คงต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อเท็จจริง ถ้าเป็นการให้ข้อมูลเท็จแล้วทำให้ประชาชนสับสนก็จะเข้าข่ายเฟกนิวส์มีความผิด หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายก็ต้องร้องเข้ามา

ดังนั้นขณะนี้ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวที่ออกมา ขอให้รับความจริงอย่างรอบด้าน เพราะตอนนี้รัฐบาลพยายามหาทางนำเข้าวัคซีนโควิดอยู่แล้ว ส่วนเอกชนรายใดจะสามารถนำเข้าได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกชนรายนั้นๆที่ต้องยื่นขอนำเข้าตามช่องทางที่มีอยู่

ส่วนที่มีกระแสข่าวเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์นั้น เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ปล่อยให้มีคนมาหาประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลก็ติดต่อผู้ผลิตโดยตรงไม่ผ่านนายหน้า และวัคซีนเป็นที่ต้องการของตลาดถึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตต้องใช้นายหน้าในการวิ่งขายวัคซีน จึงเชื่อว่าไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ตามข่าวที่ออกมา

ก่อนหน้านี้  นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีการขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งมีกรณีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “แอคแคป แอสเซ็ทส์” อ้างมีวัคซีนซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส แต่ดีลรัฐบาลไม่ได้ ว่า อย. อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว 5 ตัว คือ

ได้แก่ 1.วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อนุมัติเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2.วัคซีนโคโรนาแวค จากบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อนุมัติไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด อนุมัติเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 4. วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์ม่า จำกัด อนุมัติเมื่อวันที่ 13 พ.ค. และล่าสุด 5.วัคซีนซิโนฟาร์ม

นพ.ไพศาลกล่าวว่า ส่วนกรณีบริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ไม่ได้ขออนุญาตเป็นสถานประกอบการด้านยา ซึ่งการนำเข้าวัคซีนต้องขออนุญาต อย.เป็นสถานประกอบการด้านยา ต้องมีสำนักงาน สถานที่เก็บยา และคนปฏิบัติหน้าที่ คือ เภสัชกรประจำ และจริงนำเอกสารของผู้ผลิตมายื่นขึ้นทะเบียน ดังนั้น จึงต้องมาติดต่อ อย.เป็นที่แรก อย่างบริษัทไบโอ เจเนเทค ได้รับอนุญาตสถานประกอบการด้านยาแล้ว เพราะเคยเอาวัคซีนเข้ามาหลายตัว และมาขึ้นทะเบียน

ดังนั้น บริษัทอื่นจึงไม่สามารถนำเข้าได้ การนำเข้ามาก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นวัคซีนที่ผลิตมาจาก BIBP ถ้าเอามาจากที่อื่นถือว่าเป็นยาปลอม พอนำไปใช้จริงก็ต้องไปตรวจตัววัคซีนโดยกรมวิทยาศาสตร์การแทพย์ มีการปนเปื้อนไหม คุณภาพ ขนาดถูกต้องตามเอกสารกำกับยาและทะเบียนหรือไม่ ถ้าครบถ้วนจะออกใบรับรองรุ่นการผลิตหรือล็อตลีรีส และกระจายไปใช้ตามที่ต่างๆ

การขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยมีประมาณ 6 ขั้นตอนใหญ่ๆ แต่สามารถทำคู่ขนานกันไปได้ ได้แก่ 1.ผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตการนำเข้า มีใบอนุญาตเป็นสถานประกอบการด้านยา ประกอบด้วย มีสำนักงาน สถานที่เก็บยา มีเภสัชกรประจำ 2.ผู้นำเข้ายื่นรายละเอียดวัคซีน มาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. 3.ยื่นเอกสารรับรองสถานที่ผลิตวัคซีน หรือ PICS หรือเทียบเท่ากับมาตรฐาน GMP ที่ทำคู่ขนานไปได้ 4.ทาง อย.ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร 5.การประเมินด้านวิชาการ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือด้านความปลอดภัย และ 6.จัดทำแผนเรื่องจัดการความเสี่ยงของวัคซีน

“ตั้งแต่ประเมินวิชาการมา เรากำหนดเวลา ให้อยู่ภายใน 30 วัน เช่น เราใช้เวลาอนุมัติวัคซีนโมเดอร์นา 10 กว่าวัน วัคซีนซิโนฟาร์ม ประมาณ 8 วัน เพราะว่ามีเอกสารครบ มีความน่าเชื่อถือ ผู้เชี่ยวชาญของ อย. ทั้งภายในและภายนอก ก็ประเมินได้เร็ว เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน หลังการประเมินแล้ว จะมีการประชุมอนุกรรมการ และอนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีน แต่จะต้องมีการติดตามคุณภาพและความปลอดภัยต่อไป” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ต้องย้ำว่าผู้ที่ได้ทะเบียนวัคซีนเท่านั้น ถึงจะเป็นคนนำเข้ามาได้ เช่น บริษัทไบโอเจเนเทค ได้ทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม จะเป็นผู้นำเข้าวัคซีนมาเท่านั้น ผู้อื่นไม่สามารถนำเข้ามาได้ เพราะ ทางบริษัทฯ ต้องเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยหลังใช้วัคซีน ตามพรบ.ยา ทุกประการ​