ภาคีนักเรียนสื่อ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ คัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

ภาคีนักเรียนสื่อ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ คัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ด้าน “ณัฐชา” เผยจ่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ-เสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะรองประธาน กมธ. รับมอบหนังสือจากตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำรายชื่อที่รวบรวมได้จากเว็บไซต์ change.org เพื่อขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสาร

ตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อ กล่าวว่า พวกตนได้สร้างแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว ให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อเรียกร้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เกี่ยวข้องให้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ) ฉบับแก้ไข ไม่ให้ถูกประกาศใช้ โดยได้ปิดรับรายชื่อเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ลงรายชื่อคัดค้านประมาณ 17,800 รายชื่อ จึงได้นำรายชื่อเหล่านี้มายื่นต่อ กมธ. เพราะอยากผลักดันการคัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่รัฐบาลสามารถปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลถึงประชาชนได้ เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ต่อไป

ด้านนายวรภพ กล่าวว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ของราชการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดมา เรียกว่าเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น คือ ข้อมูลข่าวสารใดที่รัฐบาลจะเปิดเผยออกมากำหนดเป็นข้อยกเว้น ที่เหลือต้องให้ภาคประชาชนหรือสื่อมวลชนไปร้องขอ และให้เป็นอำนาจของทางหน่วยงานที่จะปฏิเสธได้ โดยให้ผู้ที่ร้องขอไปอุทธรณ์ ซึ่งถ้าเรามองว่าข้อมูลข่าวสารทั้งหมดคือข้อมูลข่าวสารสาธารณะตั้งแต่แรก เป็นข้อมูลของประชาชนทุกคนที่มอบหมายให้หน่วยงานรัฐเป็นเพียงผู้ครอบครองเท่านั้น

ดังนั้น จึงควรจะเปิดเผยโดยอัตโนมัติทั้งหมด ซึ่งร่างที่พวกตนยกขึ้นมาเป็นหลักการเปิดเผยทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้เรามีกฎหมายพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล) ที่กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดของภาครัฐต้องเก็บในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เรากำหนดแค่เพียงว่าข้อมูลใดก็ตามที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลต้องเปิดเผยออกมาทั้งหมด ก็จะทำให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐมีวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลทั้งหมดเปิดเผยออกมาโดยที่ประชาชนไม่ต้องไล่ขอทีละข้อมูล

ขณะที่นายณัฐชา กล่าวว่า ตนในฐานะประธาน กมธ.จะรับเรื่องนี้เข้าพิจารณาและเตรียมเชิญสำนักกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเข้ามาพูดคุยและหารือถึงแนวทางทางออกที่ภาคีนักเรียนสื่อมายื่นหนังสือวันนี้ ส่วนเรื่องที่นายวรภพได้พิจารณาในชั้นอนุฯ กมธ.ก็เตรียมเข้าบรรจุเป็นเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป