มูลนิธิผสานวัฒธรรม เผยเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิ UN เสนอไทยยุติเอาผิดชาวบางกลอย

มูลนิธิผสานวัฒธรรม เผยเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิ UN เสนอไทยยุติดำเนินคดี ชาวบ้านบางกลอย ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจาน ในเดือน ก.ค. นี้

วันที่ 22 พ.ค.64 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมออนไลน์ รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก Universal Periodical Review (UPR) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ฉบับที่สาม

โดยมี นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลและตอบคำถามจากตัวแทนขององค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนที่เข้าร่วมฟัง ซึ่งรวมถึงชาวบ้านกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

การประชุมครั้งนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าแก่งกระจาน 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยาน 2562 เป็นผลให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานใช้อำนาจมาดำเนินคดีกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหนึ่งที่กลับขึ้นไปยังพื้นที่ใจแผ่นดินเมื่อเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ก่อนจะถูกจับกุมและตกเป็นจำเลยข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติในเวลาต่อมา

โดยวันที่ 28 พ.ค. 2564 นี้ ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย 28 คน จะต้องไปรายงานตัวตามหมายเรียกที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องให้อัยการจังหวัดเพชรบุรีแล้ว เป็นผลให้อัยการเป็นผู้มีอำนาจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องได้

ประเด็นที่สองคือ การเสนอชื่อ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลก (UNESCO) ได้ปฏิเสธข้อเสนอก่อนหน้านี้ 3 ครั้ง ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยให้ข้อเสนอนำกับรัฐบาลไทยว่า รัฐไทยควรแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานทั้งหมดก่อนการนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติครั้งถัดไป ในเดือน ก.ค. 2564 นี้ แม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการพูดคุยรับฟังปัญหาของชาวบ้านกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเพื่อหาข้อสรุปและวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ประเด็นที่สามคือ การละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดย นายเกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อการอนุรักษ์และวัฒนธรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยอ้างว่า ทำตามกฎหมาย แต่เมื่อชนเผ่าพื้นเมืองเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองอย่าง ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ก็ไม่เป็นผล ทำให้ยังคงเกิดปัญหากดทับเชิงโครงสร้างและการใช้กฎหมายในลักษณะสองมาตรฐานผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลต่อชนเผ่าพื้นเมืองโดยรวม

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยตกเป็นจำเลยข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติว่า อัยการจะต้องมีอิสระในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี เมื่อเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และหากจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รัฐจะต้องเชิญชาวบ้านเข้าร่วมในคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นด้วย

“รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม ควรจัดทำข้อเสนอเร่งด่วนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อชลอการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย เนื่องจากขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลยังคงดำเนินคดีอาญาร้ายแรงกับชาวบ้าน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องดังกล่าว จากทั้งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ ที่ประเทศจีน และในเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แน่นอน” พรเพ็ญ กล่าว

โดยการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนรัฐบาลทั้งสองหน่วยงานคือ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงและข้อเสนอแล้ว โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตอบรับว่า จะนำเรื่องการเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีชาวบ้านบางกลอยไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คำตอบที่ชัดเจนในเร็ววันนี้

มูลนิธิผสานวัฒธรรม จึงขอเชิญชวนในประชาชนทุกคนจับตาดูว่า วันที่ 28 พ.ค. นี้ อัยการจังหวัดเพชรบุรีจะสั่งฟ้องชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน ที่ถูกหมายเรียกคดีบุกรุกผืนป่าแก่งกระจานหรือไม่อย่างไร และหากรัฐไทยมีความบริสุทธิ์ใจในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านบางกลอย รัฐจะต้องนำข้อเสนอเรื่องชลอการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย จากเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR มาปรับใช้ ก่อนการเสนอชื่อ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นทะเบียนคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้ง เดือน ก.ค. นี้