นักวิชาการ กางหลักรธน. ชี้ปชช.มีสิทธิรับวัคซีนโควิดด้วยความสมัครใจ จะออกกฎบังคับไม่ได้

วันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการที่รัฐออกกฎหมาย คำสั่งที่เกิดผลทางบังคับพร้อมกับบทลงโทษกับประชาชนในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดว่า
ประเด็นการออกมาตรการของรัฐ อาทิ กฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง เพื่อ “บังคับให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีน” (Mandatory Vaccination) เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในประเทศต่างๆ รวมตลอดถึงประเทศไทย ณ ปัจจุบันด้วย (กรณีล่าสุดคือประกาศของจังหวัดบุรีรัมย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ Covid-19 ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วที่รัฐต้องการระงับยับยั้งการแพร่ระบาด แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความวิตกกังวลต่อผลกระทบข้างเคียงของวัคซีนที่อาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบวิชาชีพของเขาเช่นเดียวกัน (จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องต่อศาลในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเชค ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ)
.
ในทางวิชาการจึงมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ในแง่มุมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว มาตรการของรัฐในการบังคับให้ประชาชนต้องมารับการฉีดวัคซีนนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Constitutionality) หรือไม่อย่างไร รัฐกระทำได้หรือไม่
.
หากจะตอบโดยหลักการทั่วไปแล้วก็สามารถตอบได้ว่ารัฐนั้นสามารถออกมาตรการบังคับทางกฎหมาย (Compulsory legal measures) อันอาจนำไปสู่บทลงโทษทางกฎหมายได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญนั่นคือ มาตรการของรัฐต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระรวมตลอดไปถึงบทลงโทษทางกฎหมายนั้นต้องไม่รุนแรงมากจนเกินไป (Proportionate) หากพิจารณาจากการกระทำความผิดของประชาชนตาม “หลักพอสมควรแก่เหตุ” (รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖)
.
อย่างไรก็ดี ภาครัฐต้องเข้าใจและเคารพด้วยว่า แม้ตนจะมีอำนาจออกมาตรการบังคับตามกฎหมายได้ก็ตามที แต่โดยหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็รับรองและคุ้มครองว่า ประชาชนเองก็มี “สิทธิในชีวิต” (Right to life) ของเขา ซึ่งเชื่อมโยงไปยังสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ อีกมากมาย อันส่งผลให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะยินยอมรับการฉีดวัคซีนหรือไม่อย่างไรบนพื้นฐานของความสมัครใจเสียก่อน
.
กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ ตามหลักการทั่วไปแล้ว รัฐจะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยจะไม่เข้าไปบังคับประชาชนให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนเลยตั้งแต่ต้น หากแต่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะเข้ารับการฉีดวัคซีนจากรัฐหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ต้องอธิบายขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจด้วยตนเองข้างต้นตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน” ซึ่งในกรณีการรับวัคซีนก็คือ การที่รัฐต้องให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างครบถ้วนรอบด้านเกี่ยวกับวัคซีนที่ภาครัฐมีอยู่ (Sinovac และ AstraZeneca) ซึ่งหมายถึงข้อมูลอย่างน้อยดังนี้
1. ข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัย (Safety) ของวัคซีน
2. คุณภาพของวัคซีนในการป้องกันหรือระงับยับยั้งโรค
3. วัคซีนมีมาตรฐานน่าเชื่อถือ (ได้รับการรับรองจากองค์การทางด้านสาธารณสุขที่เป็นที่ยอมรับ — ในต่างประเทศพิจารณาองค์กรของตนเองควบคู่ไปกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ WHO ฯลฯ เป็นต้น)
.
เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลต่างๆ ข้างต้นแล้ว ย่อมนำไปสู่การพินิจพิจารณาด้วยตนเองว่าจะสมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนกับภาครัฐหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เป็นไปตามเป็นไปตาม “หลักเสรีภาพและความยินยอมของประชาชนบนข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน” (Principle of Free and Informed Consent) โดยปราศจากการบังคับใดๆ ของรัฐ
.
“หลักความสมัครใจของประชาชน” ข้างต้นอาจได้รับการยกเว้น กล่าวคือ หากเกิดกรณีของการแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงและรวดเร็ว ในขณะที่ประชาชนอาจยังไม่ค่อยมีความตื่นตัวกับความรุนแรงของโรคระบาดดังกล่าว “บนพื้นฐานของความจำเป็นอย่างยิ่ง” (Necessity) รัฐก็อาจตัดสินใจออกมาตรการบังคับทางกฎหมายให้ประชาชนต้องมารับการฉีดวัคซีนจากรัฐ เมื่อเลือกมาตรการบังคับเช่นนี้แล้ว ก็หาได้หมายถึงว่า รัฐจะดำเนินการใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ หากแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างน้อยดังนี้
1. ปริมาณวัคซีนต้องมีมากเพียงพอต่อความต้องการ (การบังคับ) ประชาชน
2. ความปลอดภัยภายหลังจากการรับวัคซีน ภาครัฐต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
3. อยู่บนความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ
4. มีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นหรือไม่อย่างไรจากมาตรการบังคับทางกฎหมายด้วยเหตุของวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขา (ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก) เช่น คนมีโรคประจำตัว เด็ก ฯลฯ
5. การกำหนดลงโทษของรัฐต้องคำนึงว่า เป็นการลงโทษที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ได้น้อยที่สุด พอเหมาะ ไม่รุนแรงมากจนเกินไป
.
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ประเด็นเรื่อง “ความลังเลในการรับวัคซีน” (Vaccine hesitancy) ที่เกิดขึ้นจากสภาวะความวิตกกังวลผลกระทบจากการรับวัคซีนถือเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง รัฐเองต้องเข้าใจถึงความกังวลของประชาชนด้วยว่า ลำพังเพียงประชาชนรายบุคคลก็อาจยังไม่มีประเด็นมากนัก หากแต่หลายคนนั้น “เขามีภาระดูแลเลี้ยงดูครอบครัวญาติพี่น้องต่างๆ มากมาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่สามารถมองข้ามประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไปได้ (มิพักจะพูดถึงผลกระทบของโควิดที่เกิดขึ้นกับพวกเขา 2 ครั้งก่อนหน้านี้)
.
ผมเห็นด้วยกับความเห็นของ WHO ว่า เรื่อง “วัคซีน Covid-19” ที่รัฐจะทำการฉีดให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ นั้น พึงต้องมาพร้อมกับการที่รัฐต้องสร้าง “ความเชื่อถือและไว้วางใจให้กับประชาชน” (Public Trust) ด้วยว่า วัคซีนที่รัฐจะฉีดให้กับประชาชนมีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างไร รวมตลอดไปถึงมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด (มีระบบการบริหารจัดการเพื่อรับประกันความปลอดภัยอย่างไร) หากทำได้เช่นนี้ มาตรการบังคับทางกฎหมายอาจไม่มีความจำเป็นเลย และนี่คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ ณ ปัจจุบันครับ (ต่อให้รัฐเลือกมาตรการบังคับ รัฐเองก็มิอาจเพิกเฉย หรือให้ความสำคัญต่อมาตรฐานและความปลอดภัยของวัคซีนได้)
.
อนึ่ง การออกมาตรการบังคับทางกฎหมายให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีน “ในกรณีโควิด-19” (ไม่เหมือนกับวัคซีนโรคทั่วไป) นั้น ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ยังมีการถกเถียงกันว่า จะต้องออกมาในรูปแบบใด