บอร์ด สปสช.เล็งของบเงินกู้รอบ 3 อีก 9.8 พันล้าน โควิดระบาดแรงไม่ไหว

โควิดแรงไม่ไหว! บอร์ด สปสช.เล็งของบเงินกู้รอบ 3 อีก 9.8 พันล. คาดงบที่มีอยู่อาจหมดลงภายใน 1 เดือน

วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินที่เสนอขอรับงบประมาณเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รอบ 3 จำนวนวงเงิน 9,847 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายเป็นค่าบริการกรณีโควิด-19 ในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย. 2564 โดยอาจมีการปรับแก้ไขตัวเลขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพิจารณาอนุมัติต่อไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามที่ได้ขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 รวม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือรอบที่ 1 เป็นเงินจำนวน 2,633 ล้านบาท มียอดการเบิกจ่ายใช้เกินจำนวนไป 600 ล้านบาท และรอบที่ 2 ได้มีการขอเป็นเงินจำนวน 3,652 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ทำให้งบประมาณที่เตรียมไว้จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ได้ถึงเดือนพฤษภาคม ก็อาจจะไม่เพียงพอ

“เดิมมีการเบิกจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 600 ล้านบาท แต่ปัจจุบันคาดว่าจะต้องใช้เฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 1,500-2,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1 เดือน งบเดิมที่มีจะหมด จึงมีความจำเป็นต้องขอมติเพื่ออนุมัติเพิ่มเติมในครั้งนี้ โดยงบที่ขอไปเป็นการปรับคาดการณ์ใหม่เพื่อใช้เบิกจ่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. ที่พบการระบาดของโควิด-19 สูงขึ้นมาก” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ตามการคาดการณ์ใหม่นี้ เชื่อว่าด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ทำให้มีส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาการให้บริการในบ้านพักอาศัยเพิ่มเข้าไปด้วย รวมถึงปัจจัยของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งจะต้องมีการปรับวันสังเกตเชื้อเพิ่มจากประมาณ 10 วัน เป็น 14 วัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกมากขึ้น

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์เป้าหมาย คาดการณ์จะมีผู้ป่วยเฉลี่ย จำนวน 750 คนต่อวัน ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 ส่วนช่วง มิ.ย.-ก.ย. จำนวน 200 คนต่อวัน และผู้ป่วยในสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) จำนวน 15 คนต่อวัน รวมทั้งหมด 52,600 คน โดยยังคงคิดสัดส่วนระดับความรุนแรงของผู้ป่วยบนฐานเดิม คือรุนแรงน้อยร้อยละ 93 รุนแรงปานกลาง ร้อยละ 4 และรุนแรงมาก ร้อยละ 3 ในส่วนของการตรวจคัดกรอง RT-PCR ทุกสิทธิการรักษา จากเดิมอยู่ที่ราว 10,000 รายต่อวัน คาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 22,442 รายต่อวัน ทำให้ในรอบ 5-6 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีการตรวจคัดกรองรวมทั้งสิ้น 3,820,000 ครั้ง โดยค่าใช้จ่ายของบริการทั้งหมดคิดบนฐานของต้นทุนในราคาเท่าเดิม เมื่อนำมาหักลบกับงบประมาณที่ได้รับจาก พ.ร.ก.กู้เงินรอบที่ผ่านมาแล้ว จึงสรุปออกมาเป็นตัวเลขงบประมาณส่วนเติมที่จะต้องขอใหม่เป็นจำนวนวงเงิน 9,847 ล้านบาทดังกล่าว

“นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถนำงบประมาณไปใช้จ่ายได้ทันสถานการณ์ จึงมีข้อเสนอว่าเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบแล้ว ให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเพื่อประกาศใช้ทันที ไม่ต้องเอากลับมาเข้าบอร์ด สปสช.เหมือนเช่นทุกครั้ง ขณะเดียวกัน ในช่วงรอยต่อของงบที่บางครั้งทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า จึงยังได้ขอมติใช้งบจากกองทุนบัตรทองที่ไม่มีภาระผูกพัน สำรองจ่ายไปพลางก่อนได้” นพ.จเด็จ กล่าว