“ครูจุ๊ย” สวน ศธ. ออกนโยบายแต่ไม่บอกวิธีการ ห่วงเด็กยากจนหลุดจากระบบการศึกษา

ครูไม่พร้อม ! “ครูจุ๊ย” สวน ศธ. ออกนโยบายแต่ไม่บอกวิธีการ – เตือนระวังเด็กหลุดจากการศึกษาเพราะความยากจน

กระทรวงศึกษาปล่อยแคมเปญ ‘ครูพร้อม’ ด้าน ‘ครูจุ๊ย – กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า สวนกลับว่า ‘ไม่พร้อม’ โดยชี้ให้เห็นปัญหาว่า รัฐออกนโยบายแต่ไม่บอกวิธีการ พร้อมเตือนให้ระวัง เด็กที่จะหลุดจากการศึกษาเพราะความยากจน
.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ได้ออกแถลงเลื่อนเปิดเทอมปีการศึกษา 1/2564 ของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จากเดิมคือวันที่ 17 พฤษภาคม ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 พร้อมกับปล่อยแคมเปญ “ครูพร้อม” เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครูอาจารย์ บุคลากร และนักเรียนในระบบการศึกษาระหว่างรอเปิดเทอม
.
ในการเปิดตัวแคมเปญในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่มายิ่งขึ้นที่จะเริ่มต้นการเรียนการสอนท่ามกลางวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมนโยบาย 5 on (on-site, on-air, on-demand, on-line และ on-hand) รูปแบบการเรียนระหว่างเปิดเทอมที่เน้นให้โรงเรียนในสังกัดนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ท่ามกลางการระบาด
.
ดูเหมือนว่าการเปิดตัวพร้อมกับแคมเปญและนโยบายของกระทรวงอาจจะสร้างความอุ่นใจให้ผู้เรียนมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว นอกจากบรรยากาศ ‘back to school’ ที่จะต้องเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะถูกทำลายลงด้วยการบริหารและประมาณการณ์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ความพร้อมของกระทรวงศึกษาในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่ขาดความเข้าใจการสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งผู้เรียนและระบบการศึกษาอย่างแน่นอน
.
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ กระทรวงศึกษาธิการ ที่เหมือนจะเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอม แต่กลับไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไรเลยในข้อเท็จจริง
.
‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าที่เป็นทั้งนักการศึกษา ครู และนักเรียน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนต้นกล้า ร่วมสะท้อนถึงปัญหาที่สะสมมาจากปีก่อนและปัญหาระยะยาวที่อาจจะเกิดส่งผลเสียต่อประเทศในอนาคต
.
“อันดับแรกเลยนะคะ กระทรวงเอาแต่กำหนดเดตไลน์ แต่ไม่กำหนดไส้ในของมัน เช่น กระบวนการวิธีทำงานในการซัพพอร์ตโรงเรียนต่างๆ ยกตัวอย่าง การปิดเทอมและเลื่อนเปิดเทอมในทุกๆ ครั้ง สิ่งเร่งด่วนที่จะต้องทำอย่างแรกคือ เด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากการศึกษาเพราะพิษเศรษฐกิจจากโควิด เราจะต้องเยียวยาเขา คิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 6-7 แสนคนจากรายงานของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษ (กสศ.) เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงมีแนวทางเยียวยาหรือยัง?
.
“เรื่องการเลื่อนเปิดเทอมมันเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเป็นแนวทางจัดการโควิด แต่รัฐบาลออกนโยบายต่างๆ มา ไม่มีการแจ้งหรือปรับเปลี่ยนเกณฑ์ทั่วไปๆ เช่น เกณฑ์เวลาเรียน เกณฑ์การประเมินหลักสูตร เกณฑ์กลางกลับไม่ได้มีการปรับมา นั่นหมายความว่า โรงเรียนจะต้องหาวิธีดิ้นรนในการทำทุกอย่างให้ตรงตามเกณฑ์ของกระทรวง วันเรียนไม่ถึงเป้าก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้ถึงเป้าโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างการสอบโอเน็ตของนักเรียนครั้งที่ผ่านมา กระทรวงก็สอบแบบเดิม ทำแบบเดิม ทั้งๆ ที่การเรียนการสอนมันไม่เหมือนเดิม ยังคงใช้กฎ วิธีการที่แข็งตึง ทำราวกับว่า 1 ปีที่ผ่านมา เด็กๆ ได้เรียนหนังสือเต็มที่เหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤต
.
“ขณะที่กระทรวงก็ไม่ได้สนับสนุนโรงเรียนเพิ่มเติมไปจากนี้ แม้ว่าจะมีการออกแพลตฟอร์มอย่างครูพร้อม ที่กระทรวงไปพัฒนามา หรือการมีพวก 5 on แต่เรื่องพื้นฐานที่สุด อย่างเทคโนโลยีในการเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ การเรียน on-line มีเพียงพอมากน้อยแค่ไหน? หรือสื่อการเรียนแบบ on-hand ที่คิดขึ้นมาเป็นกล่องอุปกรณ์ พวกกระดาษ ถุงการเรียน ไม่ใช้เทคโนโลยีเลย ให้ไปเรียนรู้เอง คำถามของเราก็คือ แม้ว่าคุณจะเตรียมสิ่งเหล่านี้ แต่คุณได้ปรับโครงสร้างงบประมาณในการนำไปสนับสนุนหรือยัง แล้วโรงเรียนในจังหวัดห่างไกลล่ะ เขาพร้อมไหม?
.
“เด็กที่ต้นทุนน้อย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจหรือสังคม บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการเรียนอยู่แล้ว พอโรงเรียนมันหายไป สำหรับเด็กกลุ่มนี้ มันมีการเรียนรู้สองชั้น ชั้นปกติ เขาก็อาจจะมีปัญหาในการถึงการเรียนหรือเรียนรู้ช้าอยู่แล้ว แล้วก็จะมาเจอเรื่องเทคโนโลยีอีกชั้นหนึ่ง นั่นหมายความว่าความเหลื่อมล้ำจะขยายขึ้น เพราะมันจะมีเด็กที่พร้อมมากๆ แล้วก็มีเด็กกลุ่มนี้คอยอยู่ข้างหลัง รวมถึงเด็ก 6-7 แสนคน ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบอยู่แล้ว ถ้าหลุดออกไป มันยากที่จะช้อนกลับมา มันยากมาก รัฐไม่เคยมอง มองแต่ว่าระบบฉันทำแบบนี้
.
“และเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องตระหนักให้ดีก็คือ learning regression หรือ ภาวะถดถอยทางการเรียนของเด็ก ที่มันสะสมและทับถมกันมาเป็นเวลานาน พอถึงจุดหนึ่งเราเอาเขากลับมาไม่ได้นะคะ
.
“ไม่มีระบบไหนเปลี่ยนไม่ได้ มีแต่คนที่เปลี่ยนไม่ได้ เราต้องเรียกร้องให้รัฐ ให้สพฐ. ต้องยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพราะต่อไป ภาระงานครูก็จะดับเบิ้ล ต้องเตรียมสอน เตรียมออนไลน์ ต้องทำหลายอย่างมากๆ ต้องสำรวจทุกครั้งที่มีโควิด นี่ยังไม่ได้พูดถึงเคสเด็กๆ อยู่บ้าน พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ มันก็เกิดปัญหาเชิงทับซ้อนขึ้นมา เขาต้องส่งเด็กไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งมีความลำบากในการเข้าถึงเทคโนโลยี เด็กกลุ่มนี้จะถูกทิ้งไปเลย learning regression ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีแผนเยียวยา หรือช่วยครูในการดูแลเด็กเลย การให้ดูวิทยากร ติวเตอร์ว่าเขาสอนอย่างไร หรือช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ครูเป็นเรื่องที่ผิดที่ผิดเวลาในยามนี้ สิ่งที่ต้องทำคือการรับฟัง สื่อสาร และช่วยเหลือครูตามบริบทพื้นที่ ผ่านการยืดหยุ่นกฎระเบียบต่างๆ ในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้ครูช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเต็มที่
.
“ส่วนระยะยาวที่อันตรายที่สุด พอคุณไม่ได้เยียวยาอะไร คุณต้องมาจัดการปัญหาหนักๆ พวกนี้แน่นอน เพราะ skilled labour จะหายไป แทนที่จะได้พัฒนาคนจากระบบการศึกษามาพัฒนาประเทศ ก็กลายเป็นว่าไม่มี เพราะพื้นฐานความรู้ไม่พอ เด็กขาดเรียนเยอะเกินไป คุณภาพของเด็กที่จบมาก็ถดถอย” ครูจุ๊ยสรุปตอนท้ายถึงปัญหาใหญ่ที่สุด หากโควิดไม่จบในเร็ววัน ทั้งรัฐไม่สามารถจัดการคนให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ เด็กไม่สามารถไปเรียนได้ปกติอย่างที่เคย และกระทรวงไม่สามารถออกนโยบายที่สอดรับกับบริบทจริงที่เกิดขึ้นได้ เรื่องร้ายแรงที่สุดคือ ตลาดแรงงานของเราคงมีแต่คนไม่คุณภาพออกไปทำงาน และไม่สามารถพัฒนาหรือขับเคลื่อนประเทศได้ในที่สุด”
.
นี่เป็นหนึ่งทัศนะต่อการบรรยากาศการเปิดเทอมที่หลายๆ คนรอคอยของ ครูจุ๊ย กุลธิดา แม้กระทรวงศึกษาธิการจะบอกว่า “ครูพร้อม” แต่เธอก็ย้ำชัดว่า “ไม่พร้อมแน่ๆ” ถ้ากระทรวงยังทำตัวเป็นระบบราชการที่เอาแต่ออกนโยบาย เพิ่มภาระงานให้กับคนทำงานและนักเรียนต้องแบกรับ
.
#คณะก้าวหน้า #โควิด #เปิดเทอม