พล.อ.ประวิตร กำชับ รมว.แรงงาน ดูแลผู้ใช้แรงงาน ขยายเวลาตรวจโควิด เยียวยาลูกจ้างว่างงาน ช่วงการระบาด

ลุงป้อม กำชับ สุขาติ รมว.แรงงาน ดูแลผู้ใช้แรงงาน ขยายเวลาตรวจโควิด เยียวยาลูกจ้างว่างงาน ช่วงการระบาด

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังคงระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ได้กำชับให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขยายระยะเวลาของศูนย์คัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกได้ครอบคลุมและเร่งคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความความห่วงใยลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน จากการระบาดโควิด อาทิ จากการที่รัฐมีประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านค้าและอนุญาตให้นำกลับไปรับประทานที่บ้านนั้น ส่งผลให้พนักงานที่บริการหน้าร้านต้องหยุดงานชั่วคราว ดังนั้น รองนายกฯ ได้กำชับให้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างพนักงานร้านค้า ร้านอาหาร และสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐสั่งปิด โดยได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563
โดยข้อกฎหมายระบุว่า ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวแล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง.