ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 64

โฆษกรัฐบาล แถลงผลประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 64 ชงสภาฯพิจารณา 31 พ.ค. นี้

วันที่ 11 พ.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งคาดว่ามีการพิจารณาในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 31พ.ค. – 2 มิ.ย. 64 นี้

โดยวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.66 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจํานวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณที่กําหนดไว้ สํานักงบประมาณได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 มี.ค.โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ 1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

2.การลงทุนของหน่วยงานในกองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND) และ 3.การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ 2548 ทั้งนี้ สํานักงบประมาณได้จัดทําคําชี้แจง เหตุผลความจําเป็นของมาตรการดังกล่าว และจะได้จัดทําคําแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ว่า ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้ง รายการค่าดำเนินการภาครัฐ และงบประมาณสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น