‘หมอเลี๊ยบ’ สับ ศบค.แก้โควิดเหลว ศูนย์กลางระบาดอยู่ กทม. เปราะบางสุดในระบบสาธารณสุข

‘หมอเลี๊ยบ’ สับ ศบค.แก้โควิดเหลว ศูนย์กลางอยู่ กทม. จุดเปราะบาง สธ. ชี้การรับมือโรคระบาดต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ความมั่นคง เผยทำไมตายเยอะกว่า ตจว.

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 9 พ.ค.64 ที่ห้องประชุมไทยไม่ทน สถานีโทรทัศน์ Peace TV ถนนรามอินทรา กทม. กลุ่มไทยไม่ทน โดยสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เปิดเวทีอภิปรายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และอดีต รมว.คลัง อภิปรายตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่าโควิด–19 เป็นเรื่องใหม่ของมนุษยชาติ เป็นโรคระบาดที่รุนแรงไปทั้งโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด–19 นอกประเทศจีน ตนได้คุยกับคนในวงการสาธารณสุขว่า เราต้องเตรียมรับมือให้เร็ว ซึ่งการรับมือเกี่ยวกับโรคระบาด ประสบการณ์ของบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีอยู่สามารถถ่ายทอดกันได้เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ตอนเราเจอโรคซาร์ ไข้หวักนก และไข้หวัด 2009 รัฐบาลในขณะนั้น บริหารจัดการได้ดี โดยบูรณาการทำงานจากหลายกระทรวง ไม่จำเป็นต้องประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน หรือ ต้องมี ศบค. เพราะเราไม่เคยใช้ในเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุขมาก่อน ซึ่งการรับมือโรคระบาดต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่รู้จริงในเรื่องนั้นไม่ใช่ความมั่นคง การควบคุมโรคโดยหลักการระบาดวิทยา เราป้องกันได้ด้วยกลไกของกระทรวงสาธารณสุขที่ดีมาตลอด

นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 63 ประเทศไทยมีผลงานเรื่องการควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดีลำดับต้นๆ ของโลก แต่การระบาดระลอก 2 เพราะปล่อยให้มีรูรั่วในการเดินทางเข้าประเทศจากชายแดนฝั่งเมียนมา มีการเรียกรับผลประโยชน์ แต่ก็ยังจำกัดวงการระบาดได้ แต่ปรากฎว่ามีการระบาดระลอก 3 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรูรั่วจากภาคตะวันออก และมาสถานบันเทิง การระบาดระลอก 3 ปัญหาคือเป็นการระบาดในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของระบบสาธารณสุขไทย

เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีบทบาทไม่มีอำนาจเต็ม แต่เป็นอำนาจของ กทม. ซึ่งใน กทม.ระบบบริการสาธารสุขพื้นฐานมีปัญหามาตลอด เพียงแต่ฝีไม่เคยแตกให้เห็น เพราะไม่เคยมีโรคระบาดใน กทม. เราไม่รู้ว่าจะควบคุมการระบาดใน กทม.ได้อย่างไร ช่วงแรกผู้ป่วยใน กทม. ไม่สามารถเข้าถึงระบบการตรวจ และระบบการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยใน กทม.มีมากกว่าต่างจังหวัด 2–3 เท่า ผู้ป่วยใน กทม.ที่มีอาการป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่าที่ควรจะเป็น

คำถามคือทำไม กทม.จึงมีปัญหา และในระลอกนี้ ศบค.ไม่สามารถจัดการได้เลย ดังนั้น การตั้ง ศบค.ตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้ว เป้าหมายเพื่อการบริหารฉับไว ฉุกเฉิน จึงไม่เป็นความจริง สุดท้ายต้องตั้ง ศบค.กทม. โดยตั้ง นายกฯ มาเป็นผู้อำนวยการอีก ตนไม่เข้าใจว่าการแก้ปัญหาโดยทำหน่วยงานย่อยจะได้ผลอย่างไร เพราะระบบที่อ่อนแอไม่สามารถอุ้มชูระบบที่ล้มเหลวได้