จาตุรนต์ กางตัวเลขงบกู้วิกฤตโควิด รบ.ใช้เงินไม่เป็น-หาเงินไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนพังกันหมด

‘จาตุรนต์’คลี่ตัวเลขงบกู้วิกฤตโควิด รบ.ใช้เงินไม่เป็น-หาเงินไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยน พังกันหมด
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความแสดงความเห็นวิจารณ์แนวทางการฟื้นคืนเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด ระบุว่า

การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถ้าไม่เปลี่ยน เราจะพังกันหมด

หลังจากมีเสียงเรียกร้องเรื่องเยียวยามาระยะหนึ่ง รัฐบาลก็ได้อนุมัติกรอบการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนเป็นต้นมา ก่อนที่จะนำรายละเอียดมาเสนอ ครม.อีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค.นี้

งบเร่งด่วนนี้จะช่วยเหลือประชาชนผ่าน 2 โครงการคือ ม.33 เรารักกันและเราชนะ รวมวงเงิน 8.55 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1 หมื่นล้านบาทเป็นการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟระยะเวลา 2 เดือนรวมเป็นเงิน 9.55 หมื่นล้านบาท และยังมีมาตรการกระตุ้น

เศรษฐกิจระยะต่อไปอีก 1.4 แสนล้านบาท รวมการช่วยเหลือระลอกเมษายนนี้ 2.355 แสนล้านบาท

เห็นตัวเลขแล้วน่าเป็นห่วงมากครับ

การใช้งบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ ช้าและน้อยมาก

ถ้านับจากต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา กว่าการเยียวยาจะถึงมือผู้ได้รับผลกระทบเพียงบางส่วนจะใช้เวลาถึงเดือนครึ่ง ส่วนงบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจกว่าจะเบิกจ่ายกันได้ก็จะยิ่งนานกว่านั้น

ตัวเลข 2.355 ล้านบาทนี้มาจากไหน

จากโควิดรอบแรกรัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่การคิดโครงการ อนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายเป็นไปอย่างล่าช้า

ถ้าไล่ดูโครงการแต่ละด้านถึง 30 เมษายนที่ผ่านมา จะพบข้อมูลดังนี้

โครงการที่ใช้จ่ายไปน้อยอย่างน่าตกใจคือแผนงานและโครงการทางการแพทย์และสาธารณสุขวงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติไป 30,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้เบิกจ่ายไปเพียง 7,692 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาห้อง เตียงและ อุปกรณ์ทางสาธารณสุขไม่เพียงพอ

โครงการที่มีการอนุมัติและเบิกจ่ายไปมากที่สุดคือโครงการเยียวยา อาจจะเป็นเพราะโครงการนี้ทำง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนคือแจก แจก และแจก ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 5.99 แสนล้านและเบิกจ่ายไปแล้ว 5.73 แสนล้านบาท
โครงการที่มีความสำคัญแต่ใช้จ่ายไปล่าช้ามากเช่นกัน คือ โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 3.55 แสนล้าน อนุมัติไป 1.387 แสนล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียง 7.06 หมื่นล้านเท่านั้น นอกจากปัญหาความล่าช้าแล้ว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ยังมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อการสร้างฐานเสียงของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย

โดยรวมแล้วโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครม.อนุมัติวงเงิน 7.68 แสนล้าน มีการเบิกจ่ายเงินกู้ไปทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท

ตัวเลข 2.355 แสนล้านบาทคือส่วนหนึ่งของวงเงินที่นายกฯ ได้แถลงไว้เมื่อปลายเดือนเมษายนว่ามีวงเงินอยู่ 3.8 แสนล้าน ซึ่งก็คือวงเงินที่เหลือจากการใช้งบฯ ที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้และงบกลางสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ระลอกก่อนหน้านี้ ไม่ใช่วงเงินใหม่

ขณะที่การระบาดสองระลอกแรกรัฐบาลมีแผนใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ในระลอกที่สามซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเดิม แต่กลับมีแผนจะใช้งบประมาณเพียง 2.355 แสนล้านบาทที่เหลือตกค้างจากระลอกก่อนเพราะใช้ไม่เป็น

เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆที่กำลังเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะพบว่าหลายประเทศใช้งบประมาณมหาศาล อาจมีข้อโต้แย้งว่าประเทศเหล่านั้นเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่กว่าของไทยมาก แต่ถ้าเทียบเป็นขนาดของ GDP ก็จะพบว่ามาตรการทางการคลังที่หลายประเทศใช้กันคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้วก็สูงกว่าของไทยมากคือในขณะที่บางประเทศใช้งบประมาณราว 15- 20 % ของ GDP ไทยเรามีงบประมาณอยู่ที่ราว 6.6 % ของ GDP เท่านั้น (มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมาตรการทางการเงินไม่ใช่มาตรการทางการคลัง)

รัฐบาลไทยจะหางบประมาณมากขึ้นเพื่อใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่จึงเป็นปัญหาสำคัญ เป็นความเป็นความตายของชีวิตความปลอดภัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือถ้าจะหาเงินเพิ่ม รัฐบาลจะเอามาจากไหน มองไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่ารัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับปีงบประมาณหน้าไว้แบบถดถอยคือลดงบประมาณรายจ่ายลงจากปีก่อน งบฯ สำหรับสวัสดิการลดลงและงบลงทุนก็ลดลงด้วย สวนทางกับที่ควรจะเป็น

ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนแนวทางในการรับมือกับการแพร่ระบาด การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจเสียใหม่ เราคงพังไปด้วยกันหมดครับ

ยังไม่ต้องพูดถึงความจำกัดทางด้านการคลังของรัฐบาลที่หนักหนาสาหัสอยู่

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลควรชี้แจงว่าจะหาทางออกอย่างไรและเราคงต้องคุยกันเพิ่มขึ้นครับ