วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : มหาวิทยาลัยไทยกับปรากฏการณ์ที่คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากอยากย้ายประเทศ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ใน Facebook ที่มีคนรุ่นใหม่ราว 7 แสนคน เข้าไปออกความเห็นร่วมกันว่าอยากย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจัดกลุ่มผู้สนใจไปในแต่ละประเทศ ต่อมามีเจ้าหน้าที่สถานทูตตะวันตกบางประเทศออกสื่อแนะนำเพิ่มเติม ในวันนี้ Facebook ดังกล่าวได้รับการตำหนิ/ตักเตือนจากทางรัฐบาลด้านต่าง ๆ จนในที่สุดก็ปิดเพจนั้นไป

ความอยากเดินทางไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศอื่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งแสดงถึงความเบื่อหน่ายผิดหวังต่อประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน เป็นเรื่องที่สังคมควรสนใจ และช่วยกันหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ระดับสูงซึ่งคนหนุ่มสาวระดับผู้นำเกือบทั้งหมดได้ผ่านเข้ามาและจบออกไป

หน้าที่เดิมสี่ประการที่ทางราชการกำหนดให้มหาวิทยาลัยทำ คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และ การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และหน้าที่ใหม่ที่จะสร้างประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคสี่จุดศูนย์ก็ดี แย่งหน้าที่ของสถาบันเป็นสี่กลุ่มตามความถนัด และประดิษฐมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ (re-inventing the university) ตลอดจนจัดการศึกษาตลอดชีวิต re-skill/up skill

ทั้งแนวคิดเก่าและแนวคิดใหม่ ดูเหงาไปถนัดใจ เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ผ่านมหาวิทยาลัยเบื่อและยอมแพ้กับอุปสรรคต่าง ๆ ที่เขาเห็นในประเทศไทย มีแต่ความหวังใหม่ที่จะไปอยู่ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเป็นเพียงบันไดท่าน้ำให้เขาเหยียบขึ้น หรือ อย่างมากก็เป็นเพียง spring board ช่วยดีดให้คนรุ่นใหม่พุ่งตัวเองออกสู่ต่างประเทศ

เป็นที่รู้ดีว่าการลงทุนของรัฐบาลระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มที่ขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจสร้างความไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับการลงทุนในการศึกษาพื้นฐาน คนที่เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงมาก ๆ มักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี สถาบันเหล่านั้นมักจะได้รับการสนับสนุน (subsidize) เป็นพิเศษจากรัฐบาลและภาคเอกชน เมื่อจบการศึกษาในสถาบันเหล่านี้ไปก็จะได้งานที่ดีกว่า ผู้เรียนที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนกว่าไม่สามารถแข่งขันเข้าสถาบันเหล่านั้นได้ ก็ต้องเรียนในสถาบันที่อ่อนแอกว่าด้วยต้นทุนที่สูงกว่า จบออกไปแล้วได้งานที่ดีน้อยกว่า

ความไม่เป็นธรรมแบบนี้ไม่เกิดขึ้นมากนักในการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นลงทุนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ปล่อยให้ครัวเรือนที่มีฐานะดีก็ออกค่าใช้จ่ายเรียนโรงเรียนเอกชนด้วยตนเอง การที่คนรุ่นใหม่ผู้ได้เปรียบได้ใช้ทรัพยากรที่จำกัดของประเทศชุบตัวเองแล้วหนีปัญหาไปหาความสบายสร้างความเจริญให้ต่างประเทศ ถึงแม้ไม่ผิดกฎหมาย ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการทรยศ

 

เหตุผล (justification) ที่ทำให้รัฐต้องลงทุนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง คือ จะสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์และความรู้ชั้นสูงมาแก้ปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap) ที่ประเทศไทยกำลังติดอยู่ แต่สิ่งนี้จะเป็นจริงได้เพียงไร เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เราจะฝากผีฝากไข้เขาเบื่อประเทศเราเสียแล้ว พวกที่อยู่ประเทศไทยก็อยู่เพราะไปไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร จะด่าว่าพวกนี้ว่าทรยศก็คงไม่ได้แก้ปัญหา เราคงต้องหาวิธีคิดใหม่

คงต้องช่วยกันคิดว่า มาตรฐานของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน การจัดหลักสูตรที่เราจะเปรียบเทียบกันเองหรือเปรียบเทียบกับนานาขาติ เอาเข้าจริง ๆ แล้วได้ช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาให้คนรุ่นใหม่เบื่อประเทศของตนจ้องหนีเอาตัวรอด ด้านหนึ่งเราอาจจะโทษความขัดแย้งทางค่านิยมระหว่างรุ่น (generation gap) และปัญหาทางการเมืองการปกครองในประเทศ ซึ่งเรื่องเหล่านั้นอยู่นอกวิสัยที่เราจะเข้าไปแก้ไขได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราควรคิดทบทวนว่าเราได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไรที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของอนาคต และเป็นเจ้าของประเทศ รับผิดชอบต่อจากคนรุ่นปัจจุบัน

วัฒนธรรมการบริหารแบบใหม่มองนิสิตนักศึกษาเป็นลูกค้า (client) ของสถาบัน ความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับทำให้ต้องมหาวิทยาลัยต้องมีความสามารถในการประกอบการ (entrepreneurship) ทำมาหากินมากขึ้น ระบบตอบแทนของมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับตำแหน่งวิชาการซึ่งขึ้นกับ งานขีด ๆ เชียน ๆ และไม่ได้ทำให้อาจารย์เกิดฉันทะใน “กิจกรรมนักศึกษา” ช่องว่างระหว่างรุ่นจึงมากขึ้นทุกวัน ในขณะเดียวกัน อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำงานหนักโดยนักศึกษาไม่ได้มีส่วนเรียนรู้ด้วยเพราะไม่ใช่วิชาที่จะต้องสอบ กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นปัญหา lost generation คือ ผู้คนหายไปทั้งรุ่น เสียแล้ว

มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนแห่งอิสรภาพทางวิชาการ ผมเสนอว่า เราต้องเข้าหาคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตนักศึกษา และศิษย์เก่าของเรามากขึ้น รับฟังความเห็น ขยายพื้นที่ให้โอกาสให้คนรุ่นใด้มีส่วนร่วมรับรู้ปัญหาอย่างโปร่งใส และแม้กระทั่งถกเถียงกันในเรื่องนโยบาย และให้เขาได้มีส่วนต้องรับผิดชอบ (accountable) ใช้มุมมองในทางวิชาการในการสร้างสรรแก้ปัญหาในระดับที่มากกว่าที่เป็นอยู่

ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสนใจปัญหาในเรื่องที่คนรุ่นเขาสนใจ มองเรื่องของเขาโดยอาศัยมุมมองทางวิชาการที่ปราศจากอคติ และมีส่วนร่วมถกเถียงให้แง่คิดอย่างเหมาะสม เราจะได้ทราบว่าเขาได้ข้อมูลอะไรมา คิดอย่างไร เพราะอะไร กำลังจะทำอะไรต่อไป

ผมไม่เชื่อว่าอำนาจหน้าที่ทางราชการและทางสังคมและทรัพยากรภายใต้ความรับผิดชอบที่เราครูบาอาจารย์และผู้บริหารมีอยู่ จะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ได้ การเปิดใจให้กว้าง เปิดการมีส่วนร่วมให้มีคนร่วมกำหนดนโยบายได้กว้างขวางขึ้น (opening policy space) สร้างความเป็นเจ้าของร่วม แสวงหาสิ่งท้าทายร่วม เป็นวิธีการครูบาอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะมีส่วนร่วมช่วยสังคมแก้ปัญหา generation gap ทำให้พวกเขาหายเบื่อสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถแก้ได้