“เดชรัต” มองกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” คือการแสวงหาโอกาสใหม่ ย้ำทำเพื่อไทยได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกระแสการย้ายประเทศในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูงจำนวนมาก พร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศว่า

ล่าสุด มีคนสอบถามผมเกี่ยวกับ กระแสย้ายประเทศในปัจจุบัน?

สำหรับผม “การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ” เป็นจิตวิญญาณพื้นฐานของมนุษยชาติ มาตั้งแต่เราเริ่มเป็นโฮโม เซเปียนส์ (หรืออาจจะก่อนนั้นเสียอีก) ส่วนตัวของผมเอง ผมก็รู้สึกขอบพระคุณทวดของผมที่ย้ายประเทศจากจีนมายังไทย มิฉะนั้น ผมก็คงมิได้เกิดมาในแผ่นดินนี้

หากมองในกรณีของประเทศไทย ผมเคยคุยกับเพื่อนสนิทนานแล้วว่า หากไม่นับพี่น้องที่ไปมีความจำเป็นต้องไปขายแรงงานในซาอุดีอาระเบีย ตะวันออกกลาง ไต้หวัน สิงคโปร์แล้ว คนไทยในประเทศเราย้ายออกไปนอกประเทศ “น้อยเกินไป” ด้วยซ้ำ

การที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะผมคิดว่า การย้ายประเทศเป็นทั้งโอกาสสำหรับประเทศปลายทาง และประเทศต้นทาง และเป็นทั้งโอกาสสำหรับคนผู้นั้น (และครอบครัว) และคนอื่นๆ ในทั้งสองแผ่นดิน (หมายถึงต้นทางและปลายทาง)

ตอนที่ผมย้ายไปเรียนที่เดนมาร์ก ผมได้รับสวัสดิการมากมาย (เหมือนคนเดนมาร์ก) และเมื่อผมอยู่ครบ 3 ปี ผมก็สามารถลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นได้ด้วย ผมก็ถามเขาว่า “ทำไมต้องให้สวัสดิการดีๆ กับผมและครอบครัวด้วย? เพื่อนชาวเดนมาร์กตอบว่า “เพราะผมทำประโยชน์ให้กับประเทศเดนมาร์กเช่นกัน” ผมอึ้ง แต่ก็ถามต่อว่า “แล้วทำไมต้องให้สิทธิเลือกตั้งกับผมด้วย? เพื่อนผมตอบว่า “เพราะเขาเชื่อว่า ผมก็รักเดนมาร์กเช่นกัน”

วินาทีนั้น ผมฟังแล้วอยากร้องไห้ ไม่ใช่ดีใจสำหรับโอกาสของตนเอง (และครอบครัว) แต่ดีใจที่มีชาติที่เห็นในความสำคัญกับโอกาสของคนทุกคนในแผ่นดินของตน และผมก็เชื่อว่า มิใช่เดนมาร์กชาติเดียวที่คิดแบบนี้

ผมถามเพื่อนต่อว่า “แต่ในที่สุด ผมจะกลับไปเมืองไทย แล้วคุณคิดอย่างไร” เพื่อนผมตอบว่า “แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไหน ผมก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่เดนมาร์กและโลกใบนี้ได้เหมือนกัน”

นั่นละครับ จิตวิญญาณการแสวงหาโอกาสของมนุษยชาติ สำหรับผม ผมอยากเชียร์ให้น้องๆ ที่สนใจลองแสวงหาโอกาสของตนเองเช่นกัน

สิ่งเดียวที่ผมอยากแนะนำก็คือ ผมไม่อยากให้น้องๆ ทุกคนมองประเทศปลายทางเฉพาะประเทศที่เจริญกว่าเราเท่านั้น ผมเชื่อว่าด้วยความสามารถที่น้องๆ หลายคนมีอยู่ หากน้องได้ไปในประเทศต้องการรับเทคโนโลยีและภูมิปัญญาจากไทย โอกาสที่น้องจะได้รับก็อาจจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เผลอๆ อาจจะยิ่งใหญ่กว่าเพื่อนๆ ที่ไปประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำ

เวลากล่าวเช่นนี้ ผมนึกถึงท้าวทองกีบม้าที่ครอบครัวได้อพยพมาจากญี่ปุ่น จนมีลูกกลายเป็นมารดาแห่งขนมไทย ผมนึกถึงพี่น้องชาวจีนตอนใต้ที่ย้ายเข้ามาทำสวนยกร่อง ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนกลายเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีมีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาตลอดเกือบ 300 ปี และผมยังนึกถึงผู้ประกอบการจำนวนมากที่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ทั้งในระดับอำเภอ (เช่น ทวดผม) จนถึงระดับชาติ

ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะให้คำแนะนำและช่วยเหลือน้องๆ อย่างถึงที่สุด ด้วยความคิดและความเชื่อเพียงอย่างเดียวคือ

“ไม่ว่าน้องๆ จะอยู่ที่ไหน น้องๆ ก็จะรักประเทศไทยและทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ทั้งนั้น”

อย่าหยุดแสวงหาโอกาสกันนะครับ ไม่ว่ามันจะไกลแค่ไหนก็ตาม