นักวิชาการ มองโครงสร้างรัฐเข้าสู่ความเสื่อมถอย หลังถูกตั้งคำถามความชอบธรรม-การไม่ปรับตัว

ความเสื่อมขององค์การและสถาบันทางสังคมหนึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อการปฏิบัติงานไม่สอดคล้องหรือเบี่ยงเบนจากเป้าประสงค์หรือพันธกิจที่เป็นรากฐานการจัดตั้งองค์การ.

และยิ่งมีการปฏิบัติใดขัดแย้งหรือละเมิดหลักการพื้นฐาน ซึ่งมีสถานะเป็นเสาหลักค้ำยันความชอบธรรมขององค์การแล้ว. ก็ยิ่งทำให้อัตราเร่งของความเสื่อมมีสูงขึ้น

บางกรณีเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังของสังคมต่อองค์การเปลี่ยนแปลง. แต่องค์การยังไม่ปรับเป้าหมาย พันธกิจ หรือบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ล้าสมัยไปแล้ว. ความเสื่อมก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

เราเห็นสัญญาณความเสื่อมขององค์การทางสังคมได้จาก ตัวอย่างปรากฎการณ์เหล่านี้

– มีการตั้งคำถามเชิงท้าทายเกี่ยวกับสถานภาพแห่งการดำรงอยู่ขององค์การ. หรือ คำถามที่ว่า มีองค์การไว้ทำไม. และคำถามลักษณะนี้ขยายไปสู่สาธารณะในวงกว้าง.

– มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนการไม่ยอมรับการปฏิบัติขององค์การอย่างต่อเนื่อง

– มีการเสนอให้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์การนั้น ๆ ในวงกว้าง.

หากองค์การใดที่มีผู้บริหารที่มีจริยธรรม ซื่อตรงและยืนหยัดต่อหลักการอันเป็นเสาหลักขององค์การ ย่อมไม่ปล่อยให้การปฏิบัติที่นำไปสู่เส้นทางแห่งความเสื่อมเกิดขึ้น. และหากเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่. ก็จะเร่งรีบแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นทันที ทำเช่นนั้นก็ย่อมสามารถกอบกู้ศรัทธากลับคืนมาได้

หากองค์การใดมีผู้บริหารที่มีสำนึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม. ย่อมรับรู้ความคาดหวังและความต้องการของของสังคมได้ทันเวลาและหากยอมปรับเปลี่ยนแนวตัดสินใจ บรรทัดฐาน และแนวปฏิบัติขององค์การให้สอดคล้องบริบทที่เปลี่ยนไป ก็ย่อมสามารถรักษาองค์การต่อไปได้

แต่ในยามนี้องค์การภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคสังคมของประเทศไทยจำนวนมากกำลังเดินไปสู่เส้นทางแห่งความเสื่อม และยังไม่เห็นภาพของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่น่ากังวล เพราะการทำงานขององค์การเหล่านั้นมีผลกระทบต่อสังคมสูงยิ่ง

ควรที่ผู้บริหารและปฏิบัติงานในองค์การเหล่านั้นหันมาทบทวนตนเองอย่างจริงจัง และแสวงหาหนทางในการแก้ไขและปรับปรุงองค์การให้มีความชอบธรรม ได้ความเชื่อถือ เชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่ายในสังคม. ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป