“เพื่อไทย” แถลงชี้ 7 ปัญหาส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ทัน เหตุระบบส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพซ้ำซ้อน

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564  ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย , น.ส.ทัดดาว ตั้งตรงเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตราชเทวี และนายพงศกร รัตนเรืองวัฒนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางกะปิ เปิดเผยความคืบหน้าในการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครบ 1 สัปดาห์ พรรคเพื่อไทยพบปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการของภาครัฐ ดังนี้

1. ระบบการส่งต่อผู้ป่วยซ้ำซ้อนแต่ไม่มีศูนย์กลางหรือผู้ตัดสินใจเคสผู้ติดเชื้ออย่างชัดเจน เช่น ในภาพรวมทั้งประเทศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้รวบรวมส่งข้อมูลให้แต่ละจังหวัด ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร มีศูนย์เอราวัณ และโรงพยาบาลในสังกัดคอยคัดกรองตรวจสอบ แต่ศูนย์การแพทย์เอราวัณไม่สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยที่ตรวจเช็คเชื้อแล้วอยู่ในระดับความรุนแรงใด เช่น สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง ทำให้หาข้อมูลไม่ได้ อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อตกค้างอยู่ในระบบหรือไม่ จนกลายเป็นข่าวว่าเหตุใดศูนย์เอราวัณจึงใช้เวลา 2 วันในการติดต่อกลับไปที่ผู้ป่วย

2. รัฐบาลควรเปิดเผยพิกัดของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สังคมได้ระมัดระวัง

3. ควรมีมาตรการดูแลอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็น สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน และยังต้องเดินทางไปตรวจเชื้อซ้ำ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการดำรงชีวิต เช่นอาหาร เพื่อให้สามารถกักตัวได้

4. รัฐโดยสาธารณสุขจังหวัดต้องดูแลจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในวัดและฌาปนสถาน เช่น ชุด PPE หรืออุปกรณ์ทำความสะอาด ให้เพียงพอ

5. กทม. ต้องดูแลแพทย์ให้ได้พักผ่อน จัดเวรทำงานไม่ให้เหนื่อยล้าจนเกินไป

6. ใช้ฐานข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎรหรือฐานภาษีจากกรมสรรพากร เพื่อติดตามกลุ้มเป้าหมายให้มารับวัคซีน เพื่อแก้ปัญหาแอปพลิเคชันหมอพร้อมที่ยังไม่สมบูรณ์ และลดการลงทะเบียนที่ซ้ำซ้อนได้

7. จัดสรรวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ตามคลินิก อุ่นใจ ซึ่งเป็นด่านแรกที่พบผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการบัตรทอง หากการแพร่ระบาดยังรุนแรง อาจทำให้บุคลากรเหล่านี้มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง

น.ส.ทัดดาวกล่าวว่า เคสผู้ป่วยที่รุนแรงที่สุดที่พบ คือผู้ป่วยโควิด-19 รวม 7 คน เหลือเพียงลูกชายวัย 4 ขวบที่ไม่ติดเชื้อ อาศัยอยู่ในห้องเช่า ซอยเพชรบุรี7 เขตราชเทวี ซึ่งในย่านนั้นมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น จึงมีความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อสูงมาก แต่ไม่มีโอกาสได้ตรวจหาเชื้อเพราะรายได้น้อยและค่าตรวจมีราคาแพง จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลการตรวจเชื้อเชิงรุกให้มากกว่านี้

ทั้งนี้ นายพงศกร เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงชุมชนในตลาดสด เนื่องจากแม่เค้าเหล่านี้ทำงานอยู่ในตลาดทุกวัน เจอลูกค้าจำนวนมาก ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อจึงยังคงออกไปหารายได้ กว่าจะทราบว่าติดเชื้อก็เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลชุมชน ตลาดสด เพราะสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้รวดเร็ว