ลุงป้อม ย้ำ คนร. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เอกชน มีส่วนร่วม บริหารจัดการแร่ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2564) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ 1 โดยมีการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลกับคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารเพชร กรมทรัพยากรธรณี

ที่ประชุมมีมติเห็นขอบหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบริหารจัดการแร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ของประเทศ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดพื้นที่ในท้องที่อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจการทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ และร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสำหรับการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรม รวมทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกิจกรรมเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล เพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมให้ผู้ผลิตและภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้ตระหนักถึงการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ดี ยึดหลักธรรมาภิบาลและประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอาใจใส่ต่อสังคมและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สร้างเวทีและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ประกาศเจตนารมณ์ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหรือสูงกว่ากฎระเบียบที่กำหนดไว้ และเห็นชอบการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางและมาตรการการบริหารจัดการหินอุตสาหกรรม เพื่อให้เสนอแนวทาง มาตรการ และแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการหินอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ต่อ คนร. พิจารณา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ คนร. ได้มอบหมายทั้งการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) การกำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกทรัพยากรแร่ของประเทศไทยและการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และการติดตามและประเมินผลแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564
ทั้งนี้ในการประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กำชับให้ทุกภาคส่วนต้องมองปัญหาในภาพรวมอย่างรอบด้านเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนร่วมด้วย และต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการแร่ เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันอย่างยั่งยืน