ไม่ทน! ส.ภัตตาคาร ร้องนายกฯ ยุติคำสั่ง “ห้ามนั่งกินข้าว” เสนอออฟชั่นเยียวยา

ส.ภัตตาคาร ร่อนหนังสือ ถึงนายกฯ ทบทวนคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน 14 วัน ขอวันที่ 7 พ.ค. กลับมานั่งทานในร้านได้ และขอเยียวยาจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50%

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2564 ได้ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยส่งหนังสือผ่านไปทางพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) แล้ว

ทางสมาคมภัตตาคารไทยได้รับข้อร้องเรียน ปรับทุกข์ จากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดโรค โควิด-19 และจากมาตรการควบคุม ใน 2 ระยะการระบาดที่ผ่านมา ร้านจำนวนไม่น้อยต้องเลิกกิจการพร้อมกับหนี้สิน และจำนวนมากสุ่มเสี่ยงต้องปิดกิจการ มูลค่าความเสียหายจากคำสั่งล่าสุดนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน

สมาคมภัตตาคารไทยจึงมีข้อเรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรี พิจารณา 2 ข้อ ดังนี้ 1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทาน ในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้พิจารณาอนุญาต ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 ทั้งนี้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขจัดทำมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ขึ้นมา เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า มีมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อ มีความปลอดภัย สามารถเปิดให้บริการให้นั่งรับประทานได้ ในช่วงที่เปิดหน้ากากรับประทานอาหาร สามารถเว้นระยะของโต๊ะ การเว้นให้ลูกค้าในโต๊ะนั่งห่างกัน มีฉากพลาสติกกั้น และการจำกัดจำนวนลูกค้าเทียบกับพื้นที่ สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่ได้ตราสัญลักษณ์SHA ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเชิญชวนให้เข้าร่วมมาตรฐาน SHA เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ

ส่วนอาหารที่เป็นอาหารจานเดียวริมทางหรือร้านเล็ก ๆ ที่เป็นตึกแถว ขอให้พิจารณาอนุญาตกลับมาให้นั่งทานในร้านได้เช่นกันในวันที่ 7 พ.ค. 2564 โดยมีข้อกำหนดบังคับให้ร้านอาหารประเภทดังกล่าว ต้องลดที่ลงอย่างน้อย 50% ของที่นั่งเดิม ต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ไม่อนุญาตให้ลูกค้าที่ไม่ได้มาด้วยกันนั่งรวมโต๊ะเดียวกันเด็ดขาด ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของสาธารณสุขก่อนเข้าร้านอย่างเคร่งครัด

ด้านร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง ชาบู บุฟเฟ่ต์ ไม่อนุญาตในนั่งโต๊ะเดียวกันเกิน 4 คน และต้องเว้นระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หรือ 1 เมตร แต่มีฉากกั้น รวมทั้งไม่อนุญาตให้ตักอาหารบุฟเฟ่ต์เอง หากไม่มีมาตรการดูแลป้องกันอย่างถูกวิธี เช่น ลูกค้าต้องใส่แมสปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไปรับอาหารหรือตักอาหาร และร้านต้องให้ลูกค้าใส่ถุงมือพลาสติกส่วนตัวด้วยทุกครั้ง รวมทั้งจำกัดจำนวนคนในการเดินตักอาหารให้เหมาะสมด้วย

ข้อเรียกร้องที่ 2 ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้กรุณาพิจารณาเยียวยา ค่าจ้าง เงินเดือนพนักงาน 50% งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี อีกทั้งขอความกรุณารัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป