‘ไทยสร้างไทย’ จี้รัฐบาลอนุมัติค่าเสี่ยงภัย ‘บุคลากรทางการแพทย์-อาสาสมัคร’ ที่ติดเชื้อโควิด

ไทยสร้างไทย จี้รัฐบาลอนุมัติค่าเสี่ยงภัย บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัคร หลังติดเชื้อโควิดจากการลงพื้นที่ช่วยผู้ป่วยโควิด-19

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นพ.อาสาห์ ธีรนวกรรม คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพของผู้นำที่ไม่ยอมรับความจริงและยังคงที่จะสร้างภาพเพื่อให้คนไทยเห็นว่ายังสามารถรับมือได้ แต่แท้ที่จริงแล้วฉากหลังของภาพลวงเหล่านั้น เป็นบุคลากรสหวิชาชีพและอาสาสมัครที่ทำงานกันอย่างหนักหน่วง โดยมีความหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์เหล่านี้ พวกเขาเหล่านั้นต้องเสียอะไรไปมากมาย ทั้งความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แล้วสิ่งที่พวกเขาได้รับ มันเหมาะสมแล้วหรือ ??

บุคลากรสหวิชาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม พวกเขาเหล่านี้ต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากนโยบายในด้านการควบคุมโรคที่ไม่ชัดเจน ไม่เด็ดขาด ยิ่งทำให้เกิดช่องโหว่ของการควบคุมการแพร่ระบาดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังสภาพที่ปรากฏในขณะนี้

บุคลากรสหวิชาชีพเหล่านี้ต้องขึ้นปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว เคราะห์ร้ายกว่านั้นบุคลากรบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาตัว นั่นยิ่งทำให้บุคลากรสหวิชาชีพมีจำนวนน้อยลงไป

ความเครียดและภาวะกดดันจากการปฏิบัติงานไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อการให้บริการ กลายเป็นผลกระทบที่ตามมาถึงผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยส่วนอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย บางส่วนต้องถูกเลื่อนการรักษาเนื่องจากข้อจำกัดในด้านการให้บริการ กลายเป็นเสียโอกาสในการรักษาไป

และในสภาพที่บุคลากรสหวิชาชีพไม่เพียงพอนั้น กลุ่มอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดเชื้อ การร่วมบริจาคเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ผู้ป่วย บางส่วนช่วยติดต่อประสานงานให้กับผู้ป่วย ถึงขั้นต้องไปรับผู้ป่วยและหาโรงพยาบาลให้ คำถามที่สำคัญคือจริงๆแล้วอันนี้เป็นบทบาทของใครกันแน่ ?? พวกเขาต่างต้องเสี่ยง และพบว่าส่วนหนึ่งก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องถูกกักตัว แล้วสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับล่ะ ใครควรเป็นผู้พิจารณา??

สิ่งที่พวกเขาเหล่าบุคลากรสหวิชาชีพควรจะได้รับและเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาและดำเนินการโดยด่วนที่สุดเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นการแสดงให้เห็นว่าภาครัฐพร้อมเดินเคียงข้างไปกับพวกเขา ประการแรกคือค่าตอบแทนต่างๆของพวกเขาที่ยังคงค้างจ่ายอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกเลื่อนให้รอต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะความเป็นจริงแล้ว ค่าตอบแทนเหล่านี้พวกเขาควรจะต้องได้รับ พวกเขาต้องได้รับในสิ่งที่ควรจะได้รับตามความเหมาะสม

ประการต่อมาคือสิ่งที่พวกเขาต้องรับความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ เบี้ยเสี่ยงภัยต่างๆต้องถูกพิจารณาตามมาทันที และต้องมีการทวีคูณเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับพวกเขา เพราะต้องอย่าลืมว่าการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่มีพวกเขาเหล่าบุคลากรสหวิชาชีพไม่ได้ ถ้าพวกเขาเลือกได้พวกเขาคงไม่ต้องการที่จะมารับความเสี่ยงแบบนี้ การสร้างกำลังใจควรมาจากรูปแบบนี้ด้วย

ประการต่อมาคือต้องพิจารณาอายุราชการของบุคลากรสหวิชาชีพในสถานการณ์นี้ให้เป็นกรณีพิเศษ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาและดำเนินการ ก่อนที่บุคลากรสหวิชาชีพจะหมดกำลังใจและสุดท้ายหากพวกเขายอมแพ้ ประเทศไทยก็แพ้

ส่วนอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆที่เข้ามามีบทบาทร่วมอย่างชัดเจนนั้นก็ควรมีการพิจารณาเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับพวกเขาด้วย อย่าลืมว่าบุคลากรสหวิชาชีพกับอาสาสมัครต่างๆมีการทำงานร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่นและความมุ่งหวังในการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

แต่ว่าความมุ่งมั่นนี้จะไม่มีความหมายเลย หากยังคงมีผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ทางออกได้ และสุดท้ายแล้วพวกเราคนไทยทุกคนก็จะพ่ายแพ้ต่อโรคภัยอย่างโควิด-19