สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานรับข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จากประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติฯ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี

ผู้นำแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านรมว.สุชาติ ชมกลิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อ 30 เมษายน 2564 ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม เป็นประเพณีปฏิบัติที่ผู้นำแรงงานจะได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในวันนี้มีผู้แทนคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2564 นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการ และนายอาวุธ ภิญโญยง เลขานุการคณะกรรมการได้มายื่นข้อร้องเรียนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลและกำกับกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี เกิดการพัฒนาทุกด้านอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งในด้านการป้องกันและเเก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ความปลอดภัยในการทำงานการส่งเสริมการมีงานทำ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการยกระดับประกันสังคมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องในปีที่ผ่านมา

รวม.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล มีจำนวน 7 ข้อ แบ่งเป็น 16 ประเด็น ได้แก่

ข้อ 1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องการเจรจาต่อรอง

ข้อ 2 ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านการประชาพิจารณ์มาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน

ข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3.1 ให้รัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างเอกชนได้รับ กรณีการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3.2 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด
3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2

ข้อ 4 ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
4.2 ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป และผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ
4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
4.5 ขยายอายุผู้ประกันตนจากเดิม ๑๕–๖๐ ปี ขยายเป็น ๑๕–๗๐ ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
4.6 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงงานจูงใจและลดความ เหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
4.7 กรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี และส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนแล้วให้มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญได้

ข้อ 5 ให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

ข้อ 6 ให้รัฐบาลจัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการของทางราชการ และลูกจ้างในระบบของภาคเอกชนรวมถึงขอให้รัฐลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ได้รับจากนายจ้างที่เรียกว่าค่าตอบแทนความชอบในการทำงานในกฎหมายรัฐวิสาหกิจ

ข้อ 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563

สำหรับข้อเรียกร้องที่เพิ่มมาจากจากปี 2563 คือ ในข้อ 3 ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในข้อย่อย ข้อ 3.3 ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และ ข้อ 3.4 ให้รัฐบาลจัดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2