คกก.นิสิต นิติ จุฬาฯ-น.ศ. นิติ มธ. เห็นค้านคำสั่งศาล ย้ำการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิ

คณะกรรมการนิสิต นิติ จุฬาฯ-น.ศ. นิติ มธ. ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาล ชี้ การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิ ‘สมศักดิ์’ โต้ OctDem ยันดูแลนักโทษการเมืองอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ศาล มีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เนื่องจาก ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม นั้น

คณะกรรมการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า

“ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ อีกทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นหลักการสากลที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง หลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แต่ด้วยวันนี้ (29 เมษายน 2564) ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) กับเพื่อนรวม 7 คน โดยให้เหตุผลว่า “ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

ด้วยความเคารพต่อศาล คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลอาญาข้างต้น โดยเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีอาญาซึ่งยังมิได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดพึงได้รับ แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยพิจารณาเหตุต่าง ๆ แต่ศาลกลับใช้ดุลพินิจสั่งขังผู้ต้องหาที่มิได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับคดีอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่ศาลสามารถใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมมิให้ผู้ต้องหาก่อเหตุใด ๆ ซ้ำอีกได้

ดังนั้น คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขอเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจประกอบดุลพินิจของท่านเพื่อความชอบด้วยกฎหมายวิธีการพิจารณาคดี และคงไว้ซึ่งความยุติธรรมขององค์กรตุลาการอย่างแท้จริง
คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

ขณะที่ คณะกรรการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงจุดยืนบนหลักกฎหมายและความยุติธรรม และ เปิดให้ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว

โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า การที่ศาลอาญา ไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและไม่ให้ประกันตัว 7 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ อานนท์ นำภา , ภาณุพงศ์ จาดนอก , ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ , ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ชูเกียรติ แสงวงศ์ , ปริญญา ชีวินกุลปฐม และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพราะไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยอนุญาตไว้ครั้งก่อน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 ได้บัญญัติเป็นบทหลักไว้ ให้เนื้อความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

การไม่ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นข้อยกเว้น ซึ่งโดยหลักแล้วเราต้องตีความบทยกเว้นให้เคร่งครัด ไม่กว้าง มิฉะนั้นบทหลักจะไม่มีที่ใช้ การจะไม่ปล่อยชั่วคราวต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น จึงจะไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ซึ่งศาลตีความมาตรา 108/1 (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นว่า กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด หรือกระทำผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยตัวชั่วคราวได้ ตามคำชี้แจงของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าศาลตีความ ไปในทางที่กว้างมาก คือเพียงแค่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ แม้ไม่ก่ออันตรายแก่ใครเลย ก็จะเข้าข่ายการก่ออันตรายประการอื่น แนวการตีความของศาลเช่นนี้ เป็นไปในทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้หลักการสากลอย่าง หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีบัญญัติชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ใช้

จึงสรุปได้ว่า การมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การปล่อยตัวชั่วครวเป็นสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทยทุกคน ทั้งตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาออกมา ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และนี่หรือคือสิ่งที่ผู้บริสุทธิ์ควรได้รับ

 

แถลงการณ์ : คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง…

โพสต์โดย LAWTU Student Committee – Rangsit Campus เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2021

ยันดูแลนักโทษการเมืองอย่างดี

สืบเนื่องจาก วันที่ 28 เมษายน 2564 กลุ่มคนเดือนตุลา OctDem เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย” เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานราชทัณฑ์ มีคำสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้ดูแลปกป้องผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาทางการเมือง ที่ถูกจองจำให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิต หลังมีการตรวจหาเชื้อโควิดผู้ต้องหายามวิกาล รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้ติดต่อหารือกับทนายความเพื่อต่อสู้คดีด้วย นั้น

นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังได้รับทราบรายงานดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (SMR) ข้อกำหนดแมนเดลา 2558 (MR) ข้อกำหนดกรุงเทพ (BR) และกฎเรือนจำของสหภาพยุโรป (EPR) และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 โดยตั้งแต่วันรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ จะต้องทำการตรวจสุขภาพร่างกาย ดูแลสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาล การบริการทันตกรรม รวมถึงการออกกำลังกายให้กับผู้ต้องขังทุกราย

แต่เมื่อโควิดมีการระบาดกรมราชทัณฑ์จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อในการกักตัวและตรวจหาเชื้อโดยวิธีวัดอุณหภูมิ พร้อมตรวจโควิดแบบแหย่จมูก (Swab) 14 วัน ก่อนปล่อยเข้าสู่แดนแรกรับ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้ว

นายวัลลภ เปิดเผยอีกว่า ส่วนกรณีการติดต่อหารือกับทนายความเพื่อปรึกษาเรื่องคดี นั้น รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ไม่เคยปิดกั้นผู้ต้องขังหรือจำเลย โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 61 ให้เรือนจำจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ได้ตามที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง SMR 93 และข้อกำหนดแมนเดลา ข้อ 61 เช่นเดียวกับกรณีของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่มีทนายความสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมเยียนเป็นการส่วนตัวภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออย่างเป็นประจำ