‘ธนาธร’ เขียนถึง ‘เพนกวิน’ พร้อมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ชี้เดิมพันกระบวนการยุติธรรมไทย

‘ธนาธร’ เรียกร้อง ต้องให้สิทธิประกันตัว ‘เพนกวิน’

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เขียนข้อความเรียกร้องให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมือง โดย ระบุว่า

ผมรู้จักเพนกวินจากสื่อต่างๆ หลังรัฐประหาร ปี 2557 ในฐานะนักเรียนที่สนใจปัญหาสังคม

เพนกวิ้น ในเวลานั้นอายุเพียง 17 ปี แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร ท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างไม่เกรงกลัว ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมต่างพากันเงียบกริบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ผมมองเขาด้วยความชื่นชมความเข้าใจปัญหาสังคมและความกล้าหาญของเขา

เพนกวินเป็นคนมุ่งมั่นจนอาจเรียกได้ว่ามุทะลุ ทำอะไรทำจริง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้นจนอาจเรียกได้ว่าขวางโลก ใครที่ไม่รู้จัก จึงอาจคิดว่าเขาไม่มีสัมมาคารวะ

สำหรับผม มันไม่ใช่การไม่มีสัมมาคารวะ แต่เป็นการไม่พร้อมประนีประนอมกับความไม่ถูกต้อง เพนกวินที่ผมรู้จักพร้อมเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมโดยไม่เกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดกับตนเอง

จนเมื่อปีที่แล้ว เพนกวินและผู้กล้าหาญอีกหลายคนได้ออกมาพูดถึงความจริงและความจำเป็นของสังคมที่ไม่มีใครกล้าพูดมาก่อน นั่นคือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันอย่างเปิดเผย แม้แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง หลายคนแม้จะไม่ชอบวิธีการนำเสนอของเพนกวิน แต่ในใจของพวกเขาลึกๆย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือ “Inconvenient Truth” ที่พวกเขารู้สึกแต่ไม่กล้าพูดออกมา

ผลจากความกล้าหาญของเขาและเพื่อน ทำให้วันนี้เพนกวิ้นกลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ถูกจำคุกไปแล้ว 51 วัน โดยไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวถึง 9 ครั้ง

ผู้พิพากษา ท่านกำลังเพิกเฉยต่อกฎหมายที่ท่านเองเป็นผู้พิทักษ์รักษา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้ระบุว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ในคดี 112 ส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า “ผู้ต้องหาอาจทำผิดซ้ำ” ซึ่งเหตุผลนี้ยิ่งเป็นการละเมิดหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสากล เพราะอาจหมายถึงผู้พิพากษาได้สันนิษฐานไปแล้วว่าจำเลยมีความผิดจริง ทั้งที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาออกมา

เพนกวินเลือกที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และอดอาหารประท้วง ใช้สิ่งเดียวที่เขามีอำนาจเหนือ คือร่างกายของตน เป็นเครื่องเดิมพันกับสามัญสำนึกของผู้พิพากษาและกระบวนการยุติธรรมไทย