กมธ.ศาสนาฯ กราบทูล ‘ปธ.มส.’ วินิจฉัย ปม 5 อดีตพระเถระยังเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย

วันที่ 29 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุชาติ อุสาหะ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือกราบทูล สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ใจความว่า ด้วยกมธ.การศาสนาฯ ได้รับหนังสือจากเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณาเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการด้านศาสนา ให้ความเห็นที่ถูกต้องและเป็นธรรม ตามหลักพระธรรมวินัยและกฎหมาย เพื่อเสนอต่อมส. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกรณีการกำหนดให้พระภิกษุสละสมณเพศตามมาตรา 29 และ มาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์

กมธ.การศาสนาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนซึ่งเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน กมธ.การศาสนาฯ จึงได้เชิญผู้เี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อสอบถามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพระมหาเถระ ผู้ทรงวุฒิด้านพระพุทธศาสนา กอปรกับได้มีการนำหลักพระธรรมวินัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติมส. และระเบียบที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการพิจารณาศึกษาของกมธ.แล้ว เห็นว่าตามหลักพระธรรมวินัย การที่พระภิกษุจะพ้นสภาพความเป็นพระหรือพ้นจากความเป็นสมณเพศนั้น สามารถพิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 เป็นเรื่องที่พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ได้แก่ การเสพเมถุน การลักทรัพย์ การฆ่าคนตาย และการอวดอุตตริมนุสสธรรม เช่นนี้ย่อมขาดจากความเป็นพระโดยพลันทันที แม้ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา

กรณีที่ 2 เป็นความสมัครใจของพระภิกษุเอง เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายการครองเพศบรรพชิตและการบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยการเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุ หรือบุคคลอื่นผู้รู้ความ

ในการนี้เปรียญธรรมฯ ได้ส่งหนังสือเพิ่มเติมข้อเท็จจริงในประเดฺ็นขั้นตอนการปฏิบัติการรับพระภิกษุเพื่อกักขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยหัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องประจำศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในขณะนั้น ได้ขอให้พระภิกษุที่ถูกควบคุมตัวนั้น เปลี่ยนเครื่องแต่งกายจีวรเป็นชุดปฏิบัติธรรมสีขาว โดยไม่มีการกล่าวคำลาสิกขาหรือให้สละสมณเพศแต่อย่างใด และไม่มีพระภิกษุอื่นมาทำการลาสิกขาให้ ยังถือว่าเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยอยู่ ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระแต่อย่างใด

การเปลี่ยนชุดจากการห่มผ้ากาสาวพัสตร์มาเป็นชุดขาว เป็นเพียงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น กมธ.ศึกษาแล้วมีความเห็นร่วมกับนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาว่ากรณีที่พระภิกษุรูปใดตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา และให้ดำเนินการสละสมณเพศตามมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้น หากยังไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นเปล่งวาจาลาสิกขาตามหลักพระธรรมวินัยแม้จะไม่นุ่งห่มจีวรเฉกเช่นพระภิกษุทั่วไป ย่อมถือว่ายังเป็นพระภิกษุอยู่จนกว่าจะได้เปล่งวาจาลาสิกขา การบังคับหรือการดึงผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายพระภิกษุโดยไม่ยินยอมนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยหลักการพระธรรมวินัย ดังนั้นถือได้ว่าพระภิกษุดังกล่าวยังเป็นพระภิกษุอยู่ตามพระธรรมวินัย

ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ ชอบด้วยพระธรรมวินัย กมธ.จึงขอกราบทูลถวายรายงานผลการพิจารณาศึกษาแด่ฝ่าพระบาทเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวินิจฉัยตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

อนึ่งเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 ที่พระอุโบสถวัดสระเกศฯ ได้มีการประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ ประกอบด้วย อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตพระราชกิจจาภรณ์ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และอดีตพระครูสิริวิหารการ โดยมีคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ เข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีแล้ว อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้กลับมาห่มจีวร และเดินกลับกุฏิสงฆ์ทันที

มีรายงานว่า การดำเนินการดังกล่าว เพราะทางคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ เห็นว่า อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังในคดีเงินทอนวัด ไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายอาบัติปาราชิก ซึ่งจะต้องทำให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ เนื่องจากในคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในคำพิพากษาของศาลระบุว่าไม่พบความทุจริต ขณะที่ในคดีฐานฟอกเงิน ทางศาลแพ่งก็ได้มีการพิพากษาแล้วว่าไม่มีความผิด และให้คืนเงินที่อายัดไปทั้งหมดแล้ว

ดังนั้น เมื่อไม่มีการทุจริต จึงไม่มีความผิดทางวินัยสงฆ์ที่เข้าข่ายอาบัติปาราชิก อีกทั้งในช่วงการสืบคดีของศาลก็มีบันทึกยืนยันระบุชัดเจนว่า ต่อสู้คดีขณะครองสมณเพศ แม้กระทั่งตอนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ก็มีการบันทึกไว้ว่า ยังไม่ได้สละสมณเพศ ดังนั้นจึงไม่มีข้อใดเข้าข่ายที่จะต้องสละสมณเพศ ทางคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ จึงเห็นควรให้เข้ากลับคืนหมู่คณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ต่อไป