บอร์ดก.ค.ศ.เคาะเกณฑ์ย้ายบิ๊กร.ร. เห็นชอบ 1,081 อัตรา ลง62 เขตพื้นที่ฯ 20 สพม.ใหม่ ได้ 488 อัตรา

บอร์ดก.ค.ศ.เคาะเกณฑ์ย้ายบิ๊กร.ร. เห็นชอบ 1,081 อัตรา ลง62 เขตพื้นที่ฯ 20 สพม.ใหม่ ได้ 488 อัตรา

วันที่ 29 เมษายน 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด ศธ. เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ มีสาระสำคัญดังนี้ 1.การพิจารณาย้าย เดิมกำหนดให้ย้ายขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ปรับปรุงเป็น  ให้พิจารณาย้ายในสถานศึกษาประเภทเดียวกัน ที่มีสถานศึกษาขนาดเดียวกันและขนาดใกล้เคียงกัน ทั้งในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัดพร้อมกันก่อน เมื่อพิจารณาย้ายขนาดเดียวกันและใกล้เคียงกันแล้วเสร็จ หากยังมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ ให้พิจารณาย้ายข้ามขนาดสถานศึกษาได้ โดยต้องพิจารณาย้ายข้ามขนาดตามลำดับ 2.การประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย เดิมกำหนดให้ คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) เป็นผู้ประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้าย ปรับปรุงเป็น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประเมินศักยภาพผู้ประสงค์ขอย้ายและจัดลำดับ ก่อนเสนอ อกศจ. กลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องแล้วเสนอ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาย้ายต่อไป

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า 3.การประกาศรายชื่อสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เดิมกำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา  ที่ประสงค์จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษหรือส่วนราชการอื่น แล้วแต่กรณี ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 แก้ไขเป็น กำหนดให้ประกาศรายชื่อสถานศึกษา โดยตัด “ก่อนกำหนดการส่งคำร้องขอย้ายประจำปี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน” ออก และ 4.กำหนดการการพิจารณาย้ายครั้งแรก เดิมกำหนดให้พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 25 ตุลาคม แก้ไขเป็น ให้ กศจ. พิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน และให้มีผลไม่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปีเดียวกัน ทั้งนี้ ได้ปรับระยะเวลาการยื่นคำร้องขอย้ายเป็นวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาย้ายครั้งแรกให้แล้วเสร็จ และการนับคุณสมบัติของผู้ประสงค์ขอย้าย ให้นับถึง 30 กันยายน ของปีที่ยื่นคำร้องขอย้าย ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ (PA)
 
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมอนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่กำหนดใหม่ และเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยสพม. ที่กำหนดใหม่ โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสพม.ทั้ง 62 เขต

ในครั้งนี้ เป็นการขอกำหนดกรอบอัตรากำลังฯ (ชั่วคราว) ซึ่งอัตรากำลังในแต่ละตำแหน่งเป็นการปรับอัตรากำลังมาจากกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เดิม ในสพม. จำนวน 42 เขต ไม่ได้เป็นการเพิ่มอัตรากำลังและไม่เพิ่มงบประมาณ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทางราชการจึงพิจารณาอนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้ 1.กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชั่วคราว) ในสพม. ที่กำหนดใหม่ จำนวน 62 เขต รวม 1,081 อัตรา ประกอบด้วย ตำแหน่งผู้อำนวยการสพท. จำนวน 62 อัตรา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสพท. จำนวน 148 อัตรา และตำแหน่งศึกษานิเทศก์จำนวน 871 อัตรา  ทั้งนี้ ให้ใช้กรอบอัตรากำลังนี้ เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งมติ เมื่อครบกำหนด และให้ สพฐ.เสนอ ก.ค.ศ.เพื่อขอทบทวนกรอบอัตรากำลังตามภาระงานต่อไป

“2. กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสพม.ที่กำหนดใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงท้องที่จังหวัด เพื่อให้มีผู้ปฏิบัติงานในระยะแรกจำนวน 38 เขต จำนวน 488 อัตรา โดยตำแหน่งผู้อำนวยการสพม. จำนวน 62 อัตรา แบ่งเป็น กำหนดในสพม.เดิม จำนวน 42 อัตรา และกำหนดในสพม.ใหม่ จำนวน 20 อัตรา โดยให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนจากตำแหน่งรองสพท. (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ และมีอัตราเงินเดือนมากำหนด

สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งผู้อำนวยการสพท. ให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 1” ส่วนตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สพท. จำนวน 148 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดใน สพม.เดิม 24 เขต เขตละ 3 อัตรา จำนวน 72 อัตรา และ 18 เขต เขตละ 2 อัตรา จำนวน 36 อัตรา และกำหนดในสพม.ใหม่ 20 เขต เขตละ 2 อัตรา จำนวน 40 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจาก สพท. ที่ปริมาณงานลดลงหรือตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน จากตำแหน่งรองผู้อำนวยการสพท. (ชั่วคราวและมีเงื่อนไข) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างจากกรณีอื่น (ย้าย ตาย ลาออก) ไม่ใช่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ และมีอัตราเงินเดือนมากำหนด

สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งรองผู้อำนวยการสพท. ให้กำหนดเป็น “ตำแหน่งเลขที่ 2 3 และ 4 ” แล้วแต่กรณี ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ จำนวน 871 อัตรา แบ่งเป็นกำหนดใน สพม. เดิม 24 เขต เขตละ 19 – 24 อัตรา จำนวน 497 อัตรา และ 18 เขต เขตละ 7- 21 อัตรา จำนวน 201 อัตรา และกำหนดในสพม.ใหม่ 20 เขต ๆ ละ 7 – 12 อัตรา จำนวน 173 อัตรา โดยให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสพท. ที่ปริมาณงานลดลงมากำหนด สำหรับการกำหนดตำแหน่งเลขที่ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้กำหนดเป็นตำแหน่งเลขที่เดิม ทั้งนี้ ให้สพฐ. จัดทำรายละเอียดการกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามกรอบอัตรากำลังฯ ทั้ง 1,081 อัตรา เสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบ หลักการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของส่วนราชการ สังกัด ศธ. สามารถนำผลการปฏิบัติงานดังกล่าวมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่กักตัวในแต่ละจังหวัดไม่เพียงพอ แต่ละจังหวัดอาจจะขอรับการสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานการศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจจะต้องปฏิบัติงานนอกเหนือจากการปฏิบัติงานด้านการศึกษา

“ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีจิตสาธารณะและมีความตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ จึงเห็นควรให้สิทธิประโยชน์ แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือหน่วยงานหรือชุมชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานได้ และมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว