ศูนย์ตรวจโควิด สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ปิดชั่วคราว 1 พ.ค. (4 วัน)

รมว.กระทรวงแรงงาน เผยภาพรวมการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตน 5 จังหวัด ประกาศศูนย์ตรวจสนามไทย–ญี่ปุ่น ดินแดง ปิดชั่วคราวหลัง 30 เม.ย. ส่วนพล.อ.ประวิตร กำชับช่วยคนตกงาน

ความคืบตรวจโควิดผู้ประกันตน

เมื่อวานนี้ (วันที่ 27 เม.ย. 2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตน ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งภาพรวมขณะนี้ตรวจไปแล้วทั้งหมด 29,065 คน พบผู้ติดเชื้อ 607 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย.64 เวลา 16.00 น.)

แต่ละศูนย์มีผลการตรวจ ดังนี้ กรุงเทพมหานคร ตรวจแล้ว 23,055 คน พบผู้ติดเชื้อ 602 คน ซึ่งได้ประสานส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วจำนวน 31 คน ส่งเข้า hospitel จำนวน 290 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค จ.ชลบุรี ตรวจแล้ว 596 คน พบผู้ติดเชื้อ 5 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค จ.ปทุมธานี ตรวจแล้ว 3,296 คน จ.เชียงใหม่ ตรวจแล้ว 1,389 คน จ.นนทบุรี ตรวจแล้ว 729 คน ซึ่งในส่วนของ 3 จังหวัดนี้ยังไม่ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อ

โดยศูนย์ตรวจที่สนามไทย–ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 จากนั้นจะปิดศูนย์ชั่วคราว และเปิดให้บริการตรวจคัดกรองอีกครั้งในวันที่ 5-11 พ.ค. และจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

แนวปฏิบัติหลังตรวจเชื้อ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผู้ประกันตนที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 จะต้องกักตัวที่บ้านระหว่างรอผลตรวจ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เมื่อทราบผลการตรวจแล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบผ่าน 3 ช่องทาง คือ QR Code, SMS และทางโทรศัพท์

จากนั้นแนวการปฏิบัติตนขณะรอเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน มีดังนี้

1) ผู้ประกันตนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (กลุ่มสีเขียว) โรงพยาบาลให้เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม

2) สำหรับกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มที่มีอาการรุนแรง (กลุ่มสีส้มและกลุ่มสีแดง) พิจารณาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กรณีโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้เนื่องจากเตียงเต็ม โรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั้ง 5 จังหวัดที่เปิดเป็นศูนย์ตรวจ จะมีหน้าที่ในการสอบสวนโรคและพิจารณาส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือ hospitel ซึ่ง ณ ขณะนี้มีโรงพยาบาล ที่จัดตั้ง hospitel จำนวน 23 แห่ง จำนวน 6,943 เตียง และอยู่ระหว่างประสานหาเตียงเพิ่มสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ประสานหาเตียงผ่านสายด่วน 1506 กด 6 อีกจำนวน 3,000 เตียง

ความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1506

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกันตนได้ขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงแรงงานและสายด่วน 1506 กด 6 ว่า ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว และรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากมีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งเต้านม จึงได้เดินทางมาตรวจโควิด-19 ที่สนามไทย–ญี่ปุ่น ดินแดง ทราบผลตรวจเมื่อวานนี้ (26 เม.ย.64) และทางกระทรวงแรงงานได้ประสานโรงพยาบาลลาดพร้าว ให้นำรถพยาบาลมารับเมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้

จากนั้นเมื่อเวลา 17.27 น. เจ้าตัวโทรมาแจ้งว่าได้ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้การประสานการดูแลจนเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลาดพร้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่อีกราย เป็นผู้ประกันกันมาตรา 33 มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ มีไข้อ่อน ๆ ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงประสานขอความช่วยเหลือรับมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอรถพยาบาลให้ไปรับ และกระทรวงแรงงานได้ให้รถพยาบาลของโรงพยาบาลวิชัยเวช เข้าไปรับในวันนี้เวลาประมาณ 18.00 น.จนถึงเจ้าตัวได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

เช่นเดียวกับอาม่ารายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีอาการไออย่างรุนแรง ผู้ดูแลใกล้ชิดจึงเป็นห่วงอาม่าต้องการให้พาไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงตัดสินใจประสานความช่วยเหลือมายังกระทรวงแรงงานให้หารถมารับ จนล่าสุดรถพยาบาลของโรงพยาบาลสมุทรปราการได้รับตัวอาม่าไปรักษาเรียบร้อยแล้ว

ช่วยคนตกงานใน-นอกระบบ

วันนี้ (28 เม.ย. 2564) เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามผลการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้แก่แรงงาน โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขอขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกท่าน ที่ร่วมแรงร่วมใจ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ และขอให้ทุกท่านอย่าลืมป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

“ขอชื่นชมกระทรวงแรงงานที่จัดให้มีการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก ใน 5 จังหวัดที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ในการให้ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างทันท่วงที”

ด้าน นายสุชาติ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำการทำงานเพิ่มเติม ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) จัดระบบตรวจคัดกรองโควิด -19 เชิงรุก ให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด และขอให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว และเหมาะสม

2) ขอให้ประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดโควิด-19 สำหรับผู้ที่ยังไม่แสดงอาการขอให้ประสานการส่งตัวไปยัง hospitel

3) ขอให้มีการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 ในทุกสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

4) ขอให้ช่วยเหลือคนทำงาน รวมไปถึงแรงงานนอกระบบที่อาจว่างงานหรือขาดรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น พนักงาน Grab การพัฒนาทักษะฝีมือในรูปแบบที่เหมาะสม และให้กำลังใจในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ โดยขอให้กลุ่มแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ ร่วมมือ ร่วมใจ ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”