“อรุณี” สงสัย เงินกู้ 1 ล้านล้าน อยู่ไหน? ทำไมไม่รีบใช้ ย้ำไทยไม่ได้ยากจนแต่มีรัฐบาลไม่เป็นโล้เป็นพาย

เมื่อวานนี้ (27 เมษายน 2564) ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาตั้งคำถามต่อรัฐบาลในเรื่องเงินกู้ที่ออกมาใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุขและเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ว่า

“เงินอยู่ไหน มีแล้วทำไมไม่ใช้?”

หญิงสงสัยค่ะว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 อยู่ไหน? แล้วทำไมถึงไม่รีบนำออกมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนในตอนนี้อย่างที่ควรจะเป็น? เราไม่ใช่ประเทศยากจนแต่รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่างหาก
.
ถ้าเรามาดูในรายละเอียดของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะพบว่าเงินก้อนนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. งบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท 2. งบเยียวยาประชาชน 600,000 ล้านบาท และ 3. งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 355,000 ล้านบาท
.
หญิงจะขอโฟกัสที่เงินส่วนแรก คือ งบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (22 มีนาคม 2564) พบว่าอนุมัติไป 20,498 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงไปเพียงแค่ 24.71% จากวงเงินที่อนุมัติไปเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นงบสาธารณสุขจะแบ่งเป็น
.
1) ค่าใช้จ่ายเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล อนุมัติไป 10,132 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 0 บาท

2) ค่าจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ อนุมัติไป 2,706 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 112 ล้านบาท หรือประมาณ 4.14%

3) ค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อนุมัติไป 1,497 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 55 ล้านบาท หรือประมาณ 3.71%

4) ค่าใช้จ่ายเพื่อการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค อนุมัติไป 3,012 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 2,304 ล้านบาท หรือประมาณ 76.52%

5) ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อนุมัติไป 3,150 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 2,592 ล้านบาท หรือประมาณ 82.28%
.
หญิงขอตั้งคำถามว่าทำไมงบสาธารณสุขในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลถึงไม่มีการเบิกจ่ายเลยคะ?
.
รัฐบาลที่อนุมัติพ.ร.ก.เงินกู้ตั้งแต่ปี 63 ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเลยเหรอ? ต้องรอให้เกิดการระบาดรุนแรงในเดือนเมษายนปี 64 ก่อน ถึงจะเบิกจ่ายได้เหรอ? ทั้ง ๆ ที่เราควรจะมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอเพื่อที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างสถานการณ์ในตอนนี้เราจะได้สามารถรับมือได้?
.
นอกจากนี้ทั้ง ๆ ที่เรามีการกันงบประมาณสาธารณสุขเอาไว้มากกว่า 45,000 ล้านบาท แต่เรากลับเห็นภาพที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ต้องเปิดรับบริจาคสิ่งของ อาหาร น้ำดื่ม เวชภัณฑ์ หรือแม้แต่เงิน ทำไมรัฐบาลถึงไม่ใช่งบประมาณในส่วนนี้โดยไม่ต้องเปิดรับบริจาคกับประชาชน?
.
ทำไมรัฐบาลถึงดูจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้เข้าถึงบริการทางแพทย์ได้ ทั้ง ๆ ที่มีงบสาธารณสุขไว้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 1,497 ล้านบาท?
.
>> เราต้องทนเห็นพี่น้องประชาชนที่โทรหาสายด่วนไม่ติดอีกกี่คน?
>> เราต้องทนเห็นพี่น้องประชาชนที่ต้องรอเตียงจนทนไม่ไหวอีกกี่ราย?
>> เราต้องทนเห็นพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยแล้วต้องการการดูแลแต่กลับถูกทอดทิ้งให้ตายกี่ชีวิต?
.
หญิงขอตั้งคำถามดัง ๆ ว่า “เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” ที่รัฐบาลกู้มาตั้งแต่ปีที่แล้วหายไปไหน ทำถึงยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวี่ทุกวัน ทำไมคู่สายน้อยจนประชาชนโทรไม่ติด ทำไมเตียงถึงไม่พอจนคนรอต้องเสียชีวิต ทำไมระบบต่าง ๆ ถึงไม่มีความพร้อมจนถึงขณะนี้?
.
ยิ่งไปกว่านั้นหญิงคิดว่ารัฐบาลนี้จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น
.
หากเราลองเทียบงบสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายไป 5,064 ล้านบาท กับงบเยียวยาประชาชน 600,000 ล้านบาท ที่เบิกจ่ายไป 488,514 ล้านบาท และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 335,000 ล้านบาท ที่เบิกจ่ายไป63,314 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ามีการเบิกจ่ายงบสาธารณสุขน้อยที่สุด ทั้ง ๆ ที่งบสาธารณสุขควรจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ
.
หญิงไม่ได้บอกว่าการเยียวยาพี่น้องประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นไม่สำคัญ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถดูแลสถานการณ์สาธารณสุขในตอนนี้ให้ดีขึ้นได้ เราก็ต้องใช้เงินจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีกในเยียวยาพี่น้องประชาชนและเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จบ ไม่ต่างอะไรกับการถมทรายลงทะเล
.
แต่ถ้าเราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ป้องกันไม่ให้มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นได้ ควบคุมไม่ให้มีการระบาดมากไปกว่านี้ และจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัยมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชน การเยียวยาพี่น้องประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะทำได้อย่างเต็มที่ และเป็นวิธีที่สุดที่จะทำให้เราพ้นจากวิกฤตครั้งนี้
.
หญิงขอย้ำอีกครั้งว่า “เราไม่ใช่ประเทศยากจน” แต่ “เรามีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ”
– เราต้องการรัฐบาลที่สื่อสารเป็นและชัดเจน
– เราต้องการรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญได้
– เราต้องการผู้นำที่มีความเชื่อมั่นและสร้างความหวังให้ประชาชนในประเทศ
ไม่ใช่รัฐบาลที่โทษแต่ประชาชน ทำลายความหวัง และไม่มืออาชีพ