สาววัย 18 โคม่าจาก “วัคซีนจอห์นสัน” พ้นไอซียูแล้ว หลังผ่าตัดสมอง 3 รอบ!

วันที่ 20 เม.ย. เดลีเมล์ รายงานความคืบหน้าอาการป่วยของ น.ส.เอ็มมา เบอร์คีย์ หญิงสาววัย 18 ปีในนครลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา 1 ใน 6 ผู้มี ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (ซีวีเอสที) หลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า

ภายหลังเอ็มมาได้รับการผ่าตัดสมอง 3 ครั้ง และนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากว่าสิบวัน ในที่สุดหญิงสาวก็ออกจากห้องไอซียู สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้แล้ว และครอบครัวยังระบุว่าเอ็มมามีอาการดีขึ้น แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม

รายงานระบุว่า เอ็มมาฉีดวัคซีนของจอห์นสันโดสแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. และผ่านไปราว 1 สัปดาห์จึงมีอาการ ส่งผลให้ครอบครัวต้องเร่งพาไปโรงพยาบาลเซนต์โรส โดดมินิกัน ในเมืองเฮนเดอร์สัน แต่เพราะอาการวิกฤตจึงต้องนำตัวขึ้นหน่วยบินแพทย์ฉุกเฉินเพื่อส่งไปโรงพยาบาลโลมา ลินดา ในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

หญิงสาวต้องเข้าห้องไอซียูในทันที รวมทั้งสอดท่อช่วยหายใจ และจากนั้นเข้ารับการผ่าตัดรักษาภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันถึง 3 ครั้ง และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ก็มีอาการดีขึ้นจนแพทย์อนุญาตให้ออกจากไอซียู และถอดเครื่องช่วยหายใจเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 19 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านครอบครัวของเอ็มมาเปิดเผยว่า แม้เอ็มมาจะยังใส่ท่อหลอดลมคอ แต่สามารถขยับปากเป็นคำพูดได้บ้าง ส่วนการสื่อสารกับพ่อแม่และหมอใช้วิธีกระพริบตาตอบรับ

ทั้งนี้ ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และยังไม่มีการยืนยันชี้ชัดว่าเป็นผลข้างเคียงของวัคซีนจอห์นสัน ซึ่งก่อนหน้านี้มี 6 ประเทศประกาศระงับการใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ระบุเมื่อวันอังคารที่ 20 เม.ย. ว่า จะเดินหน้าส่งวัคซีนไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งนอร์เวย์ และไอซ์แลนด์

ภายหลังองค์การยาแห่งสหภาพยุโรประบุจากการประเมินวัคซีนของจอห์นสันว่า มีความเป็นไปได้ของความเชื่อมโยงระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและวัคซีน แต่ผลประโยชน์โดยรวมจากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง

พร้อมแนะนำให้บริษัทจอห์นสันระบุในคำเตือนสำหรับผู้ใช้วัคซีนในยูโรโซนว่า ในการฉีดวัคซีนของจอห์นสันอาจมีผลข้างเคียงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมากๆ