‘ธัญวัจน์’ ชี้ โควิด-19 กระทบคนทำงานกลางคืน แนะรัฐจัดสรรงบช่วยว่าจ้าง-ออกแบบงานให้ชุมชน

ลมหายใจที่ถูกลืม ‘ครูธัญ​ ก้าวไกล’ ชี้ โควิดกระทบคนกลางคืน เสนอรัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างจากฐานชุมชน แนะดึงคนกลางคืนเสริมงานด้านสร้างสรรค์และสันทนาการ

วันที่ 18 เมษายน 2564 ธัญวัจน์​ กมลวงศ์วัฒน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล​ กล่าวถึงมาตราการการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ว่า​ ตั้งต้นเดือนเมษายน2564​ มีการแพร่กระจายของโควิด 19 อีกระลอก ทำให้ธุรกิจกลางคืนที่เคยให้ความสุข ความบันเทิงกับผู้คนและเคยเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญตลอดมาต้องปิดตัวอีกครั้ง แน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาชีพกลางคืนทอดต่อกันไปเป็นลูกคลื่นไม่ว่าจะเป็น นักร้อง นักดนตรี นักเต้น นางโชว์ พนักงานเสริฟ โดยพวกเขาเหล่านี้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก​และคลายล็อกเป็นกลุ่มสุดท้ายมาตลอด
.
“อย่าเหมารวมให้พวกเขาทั้งหมดต้องกลายเป็นแพะเซ่นความหละหลวมของภาครัฐในการจัดการพื้นที่สีเทา พวกเขาก็ต้องการการดูแลและแก้ปัญหาเช่นกัน อาชีพคนกลางคืนไม่ว่าจะแขนงไหนไม่ต่างจากคนทำงานกลางวัน​ มีภาระค่าใช้จ่ายมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูและมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระ ประกอบกับมาตรการของรัฐที่ไม่อนุญาติให้มีการนั่งดื่มแอลกอฮอล์ และให้ปิดสถานบันเทิงประเภท ผับ บาร์ ทำให้คนหาค่ำกินเช้าหรือคนกลางคืน ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง​”
.
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการปิดสถานบันเทิงเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด 19 แต่สิ่งที่สำคัญคือ พวกเขาจะหายใจต่อไปได้อย่างไร
.
นอกจากนี้ ธัญวัจน์ นังได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณ โดยระบุว่า ได้เคยอภิปรายงบประมาณปี 2564 เกี่ยวกับประเด็นการเพิ่มอัตราการเกิด นอกจากสถานเลี้ยงเด็กซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศและได้พูดถึงการมีอัตราการจ้างงาน 2 แสนตำแหน่งในการดูแลเด็กทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จนถึงวันนี้คิดว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับการจ้างงานและการออกแบบงานให้ชุมชนได้มีอัตราการจ้างงานที่ดูแลคนในชุมชนด้วยกันเอง
.
ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานนำโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเตรียมจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดไว้ 2 แสนอัตรา​ถือเป็นข่าวดีแก่พี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าเป็นเพียงการเยียวยาส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นเพียงการประสานงานกับภาคธุรกิจเป็นหลัก แต่สิ่งที่ขาดไปคือฝ่ายรัฐและฝ่ายท้องถิ่นต้องประสานงานกันเพื่อแบ่งงบประมาณท้องถิ่นมาเป็นอัตราจ้างงาน ออกแบบงานดูแลชุมชน ซึ่งในแต่ละชุมชนนั้นย่อมมีความแตกต่างกันออกไป
.
“การเยียวยาเป็นครั้งคราวเป็นการแก้ปัญหาได้ในเพียงระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐต้องให้ความสำคัญกับการ “สร้างงาน” ระดับชุมชนมากขึ้น เพราะในอนาคต หุ่นยนต์จะแทนแรงงานคนจำนวนมาก จะมีเพียงงาน สร้างสรรค์ งานสันทนาการ และ งานคนดูแลกัน จะเป็นงานที่หุ่นยนต์แทนไม่ได้ และนี่มันอาจถึงเวลาที่รัฐควรให้ความสำคัญกับงานในชุมชนที่สนับสนุนโดยการจัดสรรงบส่วนท้องถิ่น หรือ ส่วนกลางก็ได้”

ธัญวัจน์ ระบุอีกว่า ในช่วงเวลาวิกฤติขนาดนี้ การจ้างไม่ต้องกลัวเสียเปล่า การออกแบบงานสร้างสรรค์ในชุมชน ไม่ว่าอย่างไรเมื่อเงินเข้ากระเป๋าประชาชนแล้ว เขาก็ออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือเอาเงินฝากธนาคาร ดังนั้น เม็ดเงินก็ยังไหลเวียนอยู่ในประเทศ อยากให้ทดลองงานนำร่อง 6 เดือน ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานนี้เพราพน่าจะช่วยต่อลมหายใจคนที่ตกงานได้มากขึ้นนอกเหนือจาก 2 แสนตำแหน่งที่กระทรวงแรงงานเตรียมไว้ โดยน่าจะทำได้อีกถึง 3 แสนตำแหน่งทั่วประเทศ ซึ่งงานลักษณะนี้ นักร้อง นักดนตรี ก็อาจจะเหมาะสมกับงาน “สันทนาการ” ในชุมชนที่เป็นงานใหม่ ๆ วิธีใหม่ ๆ ที่ทำให้ให้ทุกคนมีความสุขในช่วงเวลาเศร้า ๆ แบบนี้ได้​