‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐประหารพม่า จ่อร่วมวงประชุมอาเซียนครั้งแรก ส่วน “ประยุทธ์” รอดูท่าที

กต.เผยประชุมผู้นำอาเซียนนัดพิเศษ ถกปมเมียนมา 24 เม.ย. ที่อินโดฯ “มิน อ่อง ลาย” ร่วมวงด้วย ด้าน “บิ๊กตู่” ยังรอสรุปรูปแบบการประชุม

วันที่ 17 เม.ย.2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศบรูไนในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยตอนนี้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศที่รวมถึง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีผู้นำอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ยืนยันการเข้าร่วมการประชุม อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการประชุมครั้งนี้จะใช้รูปแบบใด ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมด้วยตัวเอง การประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ หรือการประชุมที่มีการผสมผสานกันระหว่าง 2 รูปแบบข้างต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ตอบรับการร่วมประชุมดังกล่าว ถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากกระทำการยึดอำนาจ (รัฐประหาร) โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ของนาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำหรับประเทศไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังไม่ได้ตอบรับการร่วมประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษนี้ รวมถึงยังไม่มีการนัดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมสารัตถะของการประชุมดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาและรอรับทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้จะใช้รูปแบบใด

ทั้งนี้ สถานการณ์ในพม่า ท่ามกลางการปราบปรามประชาชนโดยกำลังทหาร-ตำรวจภายใต้คำสั่งของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า นำโดย นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นั้น ซีอาร์พีเอช หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน ที่จะไม่ยอมรับความชอบธรรมและประกาศเป็นรัฐบาลคู่ขนานเพื่อตอบโต้กับสภาการบริหารแห่งรัฐหรือ เอสเอซี หรือรัฐบาลทหารพม่า ล่าสุด ซีอาร์พีเอช ได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเพื่อความเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ คะฉิ่น ฉาน(ไทใหญ่) กะเหรี่ยง เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบรัฐบาลที่ให้กลุ่มชาติพันธ์ุมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ เมื่อเทียบกับเอสเอซี ที่ประกอบไปด้วยบรรดานายพลที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหารและอดีตรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทหารชุดเปลี่ยนผ่านของนายพล เต็ง เส่ง นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่า จะให้การรับรอง เอสเอจี หรือ เอ็นยูจี ในฐานะรัฐบาลอันชอบธรรมของพม่า