“ภราดร” ชี้ “ยืน หยุด ขัง” สะท้อนปัญหาการใช้ดุลพินิจในกระบวนการยุติธรรม ย้ำผู้ใหญ่ต้องมีพรหมวิหาร 4

วันที่ 18 เมษายน 2564 พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทยอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวถึงบทกลอนที่ว่า “อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ”เป็นความที่สอดรับกับการมีเมตตา กรุณาของหลักธรรมพรหมวิหารสี่ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่มีคุณธรรมจะยึดมั่นไว้ในใจและถือปฏิบัติเสมอ

เมื่อมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์บ้านเมืองยามนี้ กลุ่มคนผู้รักความยุติธรรมได้มายืนหน้าศาลทุกวันอย่างยาวนาน เป็นปรากฎการณ์ที่มิเคยเกิดขึ้น เพื่อร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี อันเป็นสิทธิชอบธรรมที่พวกเขาจะต้องได้รับตามที่รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดให้ความคุ้มครอง สังคมจึงงงงวยว่าการใช้ดุลยพินิจของคนขบวนการยุติธรรมกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ความถูกต้องทำนองคลองธรรมมันอยู่ที่ตรงไหน

ประเด็นนี้ปัญหาคือการใช้ดุลพินิจของบุคคลบางคนในขบวนการยุติธรรมได้ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งนี้เพราะคนที่ถูกคุมขัง สังคมมองว่าเขามิใช่อาชญากรอำมหิต เหตุการณ์เช่นนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เมื่อเราได้พิเคราะห์แล้ว จะแจ่มชัดว่า ขบวนการยึดอำนาจที่กลายพันธุ์มาเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ได้อาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจที่ตนออกแบบไว้ นำมาสร้างองค์กรกลไกซึ่งล้วนขาดความชอบธรรมของที่มามาค้ำยันพวกตน ขณะเดียวกันก็ก่อร่างสร้างค่านิยมเลวร้ายที่ว่า “การลุแก่อำนาจ ไร้ยางอาย ใจอำมหิต จะนำพาชีวิตก้าวหน้า” ซึมเป็นอิทธิพลมากดทับระบบราชการ

ประเด็นการจะปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่กล่าวมา บทสรุปจึงน่าเศร้าว่าตัวบทกฎหมายมันคลุมเครือจนต้องอาจนำมาตีความกันซ้ำซากอีกหรือ แต่องค์กรที่ต้องมาทำหน้าที่ตีความ ประชาชนก็ไม่ไว้วางใจเสียอีก แต่หลักสำคัญยิ่งก็คือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบการใช้ดุลพินิจยุติปัญหาดังกล่าว จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจมีพรหมวิหารสี่และใช้ควบคู่ไปกับตัวบทกฎหมาย ซึ่งหลักธรรมพรหมวิหารสี่นี้จะเป็นตัวนำ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นคนที่สูงกว่าตัวบทกฎหมาย