วิโรจน์ แนะตรวจเชิงรุกจำเป็น เพื่อคุมระบาดมีประสิทธิภาพ ย้ำบริหารเตียงต้องรอบคอบ

“วิโรจน์” แนะการตรวจโควิด-19 เชิงรุกจำเป็น เพื่อการควบคุมการระบาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ย้ำการบริหารจัดการเตียงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เหตุไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยโควิด-19
เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมาตรการสั่งปิดสถานบันเทิงและงดการสังสรรค์ ว่า หากไม่มีมาตรการอื่นแล้วก็คงต้องจำเป็นต้องทำ แต่อย่างไรก็ตามต้องถามถึงมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนที่มีผลกระทบด้านการทำมาหากินด้วย ซึ่งลูกจ้างต่างๆ ในสถานบันเทิงหรือร้านอาหารควรจะได้รับการเยียวยา

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ตนคิดว่าการตรวจเชิงรุกจำเป็น เนื่องจากการฉีกวงในการควบคุมการระบาดก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากการตรวจเชิงรุกทำได้อย่างจำกัด การฉีกวงในการควบคุมการระบาดก็ต้องฉีกในวงกว้าง ซึ่งทุกวันนี้การตรวจคัดกรองไม่ได้เป็นไปเพื่อการตรวจวินิจฉัยรายบุคคลแล้ว แต่เป็นการฉีกวงในการควบคุมการระบาดที่มียุทธศาสต์ทำให้การควบคุมการระบาดไม่ประมาทแต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป วันนี้การระบาดเป็นไปในวงกว้างแล้ว ดังนั้นต้องคิดแล้วว่าหากพบว่าสำนักงานแห่งหนึ่งมีคนอยู่อาจจะเป็นหลักพันคน ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อ 1 คน เราจะไปกักบริเวณทุกคนในอาคารสำนักงานนั้นก็จะเป็นอะไรที่ตื่นตระหนกจนเกินไป หรือในคอนโดแห่งหนึ่งหากพบว่ามีผู้อยู่อาศัย 1 คนที่ติดเชื้อจะไปกักบริเวณทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดแห่งนั้นก็จะเป็นวงกว้างจนเกินไป ดังนั้น ในเรื่องของการตรวจคัดกรองโควิด-19 อาจจะต้องทำให้ทั่วถึงมากกว่า

“อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการเตียงไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล เตียงในโรงพยาบาลสนามก็ดี ตอนนี้อาจจะต้องวางแผนกันดีๆ และที่สำคัญควรจะต้องพิจารณาถึงมาตรการอื่น เช่น การกักตัวรักษาตนเองที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่พร้อมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือผู้ป่วยในภาวะวิกฤตซึ่งจำเป็นต้องใช้เตียงจะได้มีเตียงให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีใครพูดถึงความเสียหายในระดับทุติยภูมิหรือความเสียหายทางอ้อม คือเคสผ่าตัดแต่ละเคส เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางเคสอาจจะถูกเลื่อนการผ่าตัดออกไป คราวนี้จากอาการที่อยู่ในระยะที่ไม่ลุกลามก็มีความเสี่ยงที่จะลุกลาม อัตราการรอดชีวิตก็ได้รับผลกระทบ นี่คือความเสียหายทางสาธารณสุขที่อาจจะหลายคนอาจจะไม่ได้พูดถึง” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ป่วยไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเดียว แต่มีผู้ป่วยในภาวะวิกฤตด้วยโรคอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจที่ต้องการการผ่าตัด ต้องการการช่วยชีวิต ต้องการเตียง ต้องการเครื่องช่วยหายใจ ฉะนั้น การบริหารจัดการเตียงคงต้องทำอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ จะมีเตียง