ศิริกัญญา เตือนระวังหลังโควิด ลูกหนี้ล้มละลายล้นศาล แนะ 2 แนวทางภาครัฐจัดการ

ศิริกัญญา แนะแนวทางภาครัฐจัดการปัญหาหนี้เสีย หวั่นหลังโควิด ลูกหนี้ล้มละลายล้นศาล

เมื่อวานนี้ (15 เมษายน 2564) น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่บทวิเคราะห์ปัญหาหนี้ครัวเรือน กับปัญหาการระบาดของโควิด ระลอกใหม่ ระบุว่า

โควิดระลอกใหม่กับหนี้ครัวเรือน-ยังจ่ายหนี้ไหวกันรึเปล่า? ถ้าไม่ไหวฟังทางนี้

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 89% ต่อจีดีพี ทำคนแบกภาระหนี้จนถึงคอหอย โควิดระบาดซ้ำ เสนอ “ยกหนี้” ให้ลูกหนี้รายย่อย และ “แผนฟื้นฟูลูกหนี้รายย่อยแบบสมัครใจ” ตามโมเดลอังกฤษ ธปท.ยืดเวลามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ต่อ

ในช่วงนี้ คำถามยอดฮิตที่เรามักจะถามตัวเอง หรือถามคนรอบตัว คงหนีไม่พ้น “เราติดโควิดรึยัง?” เพราะการแพร่ระบาดระลอกนี้ดูจะรุนแรง และแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว ได้ยินเสียงแว่วๆ มาจากรองนายกฯ วิษณุ ว่าจะเริ่มให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติอีกครั้ง

ถึงมาตรการที่รัฐบาลหยิบมาใช้ จะเป็นล็อกดาวน์แท้ ล็อกดาวน์เทียม เคอร์ฟิว ประกาศพื้นที่หลากสี สุดท้าย ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อประชาชนต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือเงินในกระเป๋าประชาชนที่จะหดหาย แต่ครอบครัวยังต้องกินต้องใช้ ยังมีอีกหลายปากท้องที่ยังต้องเลี้ยงดู ยังมีค่างวด ค่ารถที่ต้องผ่อน หลังจากเช็คกระเป๋าตังค์รัฐบาลกันไปแล้ว เรามาเช็คกระเป๋าตังค์ประชาชนกันบ้าง ว่ามีหนี้กันเยอะแค่ไหน ยังจ่ายกันไหวมั้ย

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยน่าเป็นห่วงมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นปี 2563 ทำสถิติใหม่ ยอดหนี้ครัวเรือนสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3% ของจีดีพี หรือถ้าเทียบกับรายได้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนจะคิดเป็น 1.6 เท่าของรายได้ทั้งปีเลยทีเดียว

ส่วนใหญ่เป็นกู้ซื้อบ้าน (34%) รองลงมาเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (28%) หนี้เสียของหนี้ครัวเรือนตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เป็นหนี้เสียจากกู้ซื้อบ้าน (3.8%) จากบัตรเครดิต (2.4%) แม้อัตรา NPL จะยังต่ำ แต่ยังไม่น่าไว้ใจเพราะ “หนี้เกือบเสีย” หรือผิดนัดชำระไม่เกิน 3 เดือนยังสูงเกือบ 7% และแน่นอนว่าตัวเลขนี้สะท้อนแค่หนี้ในระบบเท่านั้น

คนไทยมีหนี้อยู่ราวๆ 130,000 บาทต่อคน 1 ใน 6 ของผู้กู้มีหนี้เสียที่ตกอยู่รายละ 64,000 บาท จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าถ้าผู้กู้มีรายได้ 100 บาท จะมีภาระที่ต้องใช้คืนหนี้และดอกเบี้ยสูงถึง 43-44 บาท ซึ่งก็สูงมากแล้ว ถ้ารายได้หด แต่ภาระหนี้ยังเหมือนเดิม ก็คงอยู่ไม่ได้ ไม่พ้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมาประทังชีวิต

ในภาพใหญ่ หนี้ครัวเรือนเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แม้ประชาชนจะเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่จำเป็นต้องชำระหนี้ก่อน ทำให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบไม่เต็มที่เท่าที่ควร

ในภาพระดับบุคคล คนที่เป็นหนี้มากย่อมเกิดความกังวล พะวักพะวงกับภาระ และไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ถ้าใครเคยกู้นอกระบบคงรับรู้รสชาตินี้ดี ว่าการถูกคุกคามทวงหนี้จากเจ้าหนี้นอกระบบนั้นน่าสะพรึงกลัวเช่นไร และเมื่อไหร่ที่หนี้เหล่านี้พอกพูนจนถึงขั้นล้มละลายก็จะกลายเป็นแผลเป็นในชีวิตที่ไม่สามารถลบได้ง่าย แม้จะพ้นระยะเวลา 3 ปีของสถานะบุคคลล้มละลายแล้วก็ตาม

ในประเทศอังกฤษ มีโครงการ “ยกหนี้” (debt relief order) ให้กับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่มาก (ไม่เกิน 20,000 ปอนด์) และมีทรัพย์สินไม่มาก (ไม่เกิน 1,000 ปอนด์) ลูกหนี้ที่เข้าโครงการสามารถหยุดการชำระหนี้ทั้งต้นและดอกได้ 12 เดือน หลังจากนั้นหากสถานการณ์การเงินยังไม่ดีขึ้น ก็ถือว่ายกหนี้ให้เลย แต่อาจจะติดสถานะของ “คนที่ได้รับยกหนี้” นี้ไปอีก 6 ปี และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการขอกู้เงินเพิ่ม แต่ไม่กระทบกับการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นเหมือนบุคคลล้มละลาย

อีกโครงการคือ ยื่นแผนจัดการหนี้แบบสมัครใจ (Individual Voluntary Arrangement:IVA) เป็นทางเลือกให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย คล้ายๆ กับที่บริษัทต่างๆ ยื่นแผนฟื้นฟู เช่น การบินไทย เพื่อเจรจาหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายร่วมกัน โดยคนกลางเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย เพิ่มความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้รายเล็กรายย่อยไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ แต่ปัจจุบันกฎหมายล้มละลายของไทยยังไม่รองรับ ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเสนอแก้ไขกฎหมายให้ทางเลือกนี้เป็นไปได้สำหรับลูกหนี้รายย่อยต่อไปค่ะ

ทั้ง 2 โครงการนี้ถ้านำมาใช้ น่าจะช่วยให้ลูกหนี้ได้โอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ หลังจากพ้นวิกฤตโควิด ทำให้ประเทศไม่ต้องเสี่ยงกับการมีลูกหนี้ล้มละลายล้นศาล หลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปลายทางแต่ก็เพิ่มทางรอดให้กับประชาชนที่ต้องตกอยู่ในภาวะจมหนี้แบบไม่ตั้งใจอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

แม้โครงการเหล่านี้จะยังมาถึง แต่ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มผ่อนไม่ไหว หรือถูกฟ้องแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งประกาศขยายเวลา “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” จนถึงปลายเดือนมิ.ย. แม้หลายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐจะถึงมือลูกหนี้บ้างไม่ถึงบ้าง แต่มาตรการนี้ต้องถือว่าเป็นประโยชน์ ลองเช็คกันดูว่าใครเข้าร่วมได้บ้าง

กลุ่มแรก เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 สามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลง จาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิตโดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติเครดิตบูโรจะไม่เสีย

กลุ่มที่สอง เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้

กลุ่มที่สาม เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญและถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น นานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ

หากใครเข้าข่ายข้างต้น และยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.1213.or.th/th/ หรือ โทร. 1213 เข้าแล้วเป็นอย่างไร มาเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ