ไม่ได้หาซื้อง่าย! แพทย์ วัคซีนโควิด-19 ต้องใช้เวลาตามคิวยาวถึงปีหน้า อ้างทุกประเทศก็ต้องรอ

แพทย์ ย้ำ! วัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ของหาซื้อง่าย ทุกประเทศต้องรอ คาดคิวยาวถึงปีหน้า

วันที่ 16 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยภาพรวมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 15 เมษายน จำนวน 586,032 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 510,456 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 75,576 ราย หากจำแนกสัดส่วนการฉีด พบว่า ฉีดมากที่สุดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร้อยละ 40.41 ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 40.35 เจ้าหน้าที่อื่น ร้อยละ 9.69 ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 5.14 และ ผู้มีโรคประจำตัว ร้อยละ 4.42

“ย้ำว่า เราสู้กับการระบาดในภาวะฉุกเฉิน วัคซีนก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน สำคัญที่สุดคือ ในช่วงที่เรามีวัคซีนจำกัด เราก็เน้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเป็นอยู่หรือสัมผัสกับผู้คน เหมือนเราจะดับเพลิง พนักงานดับเพลิงก็ต้องมีอาวุธ มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้ดี เพื่อทำหน้าที่เต็มที่ป้องกันคนอื่นให้ดี” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนคำถามว่าประชาชนทั่วไปจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร ต้องเรียนว่าช่วงที่เราจะได้รับวัคซีนในจำนวนมาก จะเริ่มในเดือนมิถุนายน จำนวน 6 ล้านโดส เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เดือนกรกฎาคม อีก 10 ล้านโดส ต่อไป

“อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ได้มา ไม่ใช่ว่าอยากได้วันนี้ และโทรไปสั่งแล้วจะได้ แต่เป็นการเตรียมแผนเจรจาล่วงหน้ามาตั้งแต่วัคซีนยังวิจัยไม่สำเร็จด้วยซ้ำไป ดังนั้น ทุกวันนี้ ประเทศที่อยากได้วัคซีนล้วนแต่ต้องรอ อาจต้องถึงปีหน้าด้วยซ้ำไป สถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ยังติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง มาตรการที่เราประกาศออกไป ถ้าหน่วยงานและประชาชนดำเนินการได้เต็มที่ เราจะเห็นผลชัดเจนใน 1-2 สัปดาห์ถัดไป แต่ต้องขอบคุณความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ที่มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน และในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการจำกัดการเดินทาง แต่ประชาชนก็ให้ความร่วมมือลดการเดินทาง” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในขาขึ้น จะชะลอเมื่อไรก็ต้องย้อนดูมาตรการช่วงก่อนสงกรานต์ ซึ่งหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ที่มตรการทุกส่วนดำเนินการด้วยดี ก็จะเห็นการคงตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อและเริ่มลดลง แต่เป็นเพียงทฤษฎี ในชีวิตจริงหากมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ ก็อาจทำให้การคาดการณ์ต่างไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) สนาม บางแห่งที่รวมตัวกัน ทำกิจกรรมใกล้ชิดกัน ไม่สวมหน้ากากอนามัย นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ใน รพ.สนาม คือคนที่ติดเชื้อแล้ว แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีอาการไอที่ฟุ้งกระจายสู่คนอื่นได้ ฉะนั้น ความกังวลว่าผู้ที่เข้าไปอยู่ใน รพ.สนาม แล้วจะรับเชื้อมานั้นจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็พยายามให้มีระยะห่างพอสมควร มีการดูแลจากแพทย์

“ควรเลี่ยงการคลุกคลีกันมากเกินไป ในระดับของปริมาณเชื้อที่ฟุ้งกระจายอาจเพิ่มขึ้น ก็ควรรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใน รพ.สนาม” นพ.เฉวตสรร กล่าว

เมื่อถามว่า ประชาชนบางคนกังวลถึงการแลกเปลี่ยนเชื้อภายใน รพ.สนาม ทำให้เชื้อมากขึ้นหรือมีอาการขึ้นมา มีภาวะแทรกซ้อนขึ้น นพ.เฉวตวรร กล่าวว่า เราดูธรรมชาติของโรควันต่อวัน และมาตรฐานของ รพ.สนาม จะมีการติดเชื้อผู้ป่วยอย่างดี หากมีกรณีอาการเปลี่ยนแปลง น่ากังวล มีอาการมากขึ้น เสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายเชื้อ เช่น เดิมไม่ไอ แต่เริ่มมีอาการไอ ก็จะมีการประเมินเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก ซึ่งไม่น่ากังวล