ปราบผู้เห็นต่าง? ตม.ระงับวีซ่า นักวิชาการไทยศึกษาชาวสหรัฐ ผู้พำนักอยู่ไทยกว่า 35 ปี

นักวิชาการไทยศึกษาชาวสหรัฐฯ ถูกทางการระงับวีซ่า แม้อยู่ไทยมานานกว่า 35 ปี

เมื่อวันที่ 16 เมษายน มีรายงานว่า เดวิด เสร็คฟาส (David Streckfuss) นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ที่พำนักอาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลากว่า 35 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกระงับวีซ่า โดย เดวิด เปิดเผยเรื่องนี้กับ ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ในวันนี้  สำหรับสาเหตุคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่เดินทางไปที่มหาวิทยาลัย ต่อมาวีซ่าก็ถูกยกเลิก

ประวิตรยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลังจัดงานรวมพลศิลปินและนักเขียนอีสาน เดวิด เคยเขียนหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ ม112 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge และเกี่ยวข้องกับสื่ออีสานเรคคอร์ด แกบอกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 4 คนไปพบผู้บริหารมหาลัย บอกคำสั่งมาจากหน่วยเหนือ

เรื่องตรงนี้ หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการภาคภาษาไทยของเดอะอีสานเรคคอร์ค สำนักข่าวออนไลน์ 2 ภาษา ชื่อดังในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวว่า

ดร.เดวิด ซึ่งยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Isaan Record และอดีตผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา CIEE ที่เป็นโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมากว่า 27 ปี ได้รับแจ้งยกเลิกการจ้างงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้วีซ่าสิ้นสุดลงในวันที่ 18 มีนาคมนี้

โดยทางมหาวิทยาลัยอ้างว่า มีตำรวจจาก สภ.ขอนแก่น มากดดันอธิการบดีและคณบดี ตำรวจอ้างว่า ดร.เดวิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง

หลังจากนั้นทาง The Isaan Record ที่บริหารงานโดย บมจ.บัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ ได้ว่าจ้าง ดร.เดวิด ในฐานะผู้ประสานระหว่างประเทศและยื่นขอ Work Permit ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะนี้ติดอยู่ที่ขั้นตอนของตรวจคนเข้าเมืองภาค 4 ที่ส่งทีมสอบสวนมาสอบปากคำพนักงานบริษัทแล้วถึง 3 รอบ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่า จะได้รับคำตอบ

สำหรับ เดวิด เสร็คฟาส เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศและไทยบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มีงานวิชาการโดยเฉพาะด้านการเมืองประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีบทความและหนังสือตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ระดับโลก โดยหนังสือที่ได้รับการยอมรับอาทิ หนังสือ Truth on Trial in Thailand ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทย วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การใช้ความรุนแรงในทางการเมือง ปัญหาสิทธิเสรีภาพหลังจากการรัฐประหารของทหารในปี 2006 ปัญหาความอยุธรรมทางกฎหมายของไทยในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ในการปราบปรามผู้เห็นต่าง ที่ตีพิมพ์กับ สำนักพิมพ์ Routledge ใน 2011