“อังคณา” อดีตกสม. ชี้ ผู้ต้องหา ต้องมีสิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่บทความ ชี้ ผู้ต้องหา ต้องมีสิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่บทความเรื่องเกี่ยวกับสิทธิการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา มีรายละเอียด ระบุว่า

ผู้ต้องหามีสิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่ จากสถานการณ์โควิด นับแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปศาลน่าจะเลื่อนการพิจารณาคดีต่างๆออกไป นอกจากคดีสำคัญ หรือกรณีการฝากขังหรือการประกันตัวเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีต่างๆ คงต้องวัดใจว่าบรรดาแกนนำ คณะราษฎร จะได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากที่ได้อุทธรณ์ซ้ำๆหรือไม่ หรือพวกเขาจะต้องถูกควบคุมตัวต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด … ซึ่งไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน

จากข่าวแจกของศาลเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังจากที่ผู้ต้องหาถอนทนาย ศาลได้ชี้แจงเหตุผลในการที่ศาลต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น ส่วนตัวมองว่าศาลน่าจะกังวลเรื่องความมั่นคง (security) มากหลังจากเกิดความวุ่นวายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 64 ที่เพนกวินยืนแถลงการณ์ และมีคนขว้างปาสิ่งของในห้องพิจารณา มีผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำไปเผยแพร่สาธารณะ ทั้งที่การถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดีถือเป็นข้อห้ามตามหลักสากล ส่วนตัวคิดว่ามาตรการเรื่องความมั่นคงของศาล หรือการเว้นระยะเพื่อป้องกันโควิดเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ในทางปฏิบัติ ควรให้ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองสิทธิของจำเลย ญาติ รวมถึงการทำหน้าที่ของทนายความด้วย

ภาพที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างเข้มงวดทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้กระทำผิด หรือขัดขวางหรือกีดกันจนทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถปรึกษากับทนายความของตัวเองได้อย่างเป็นอิสระและส่วนตัว ย่อมส่งผลในทางการต่อสู้ทางคดีอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ในส่วนของญาติเองก็เช่นกัน การมาศาลแต่ละครั้งของผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมีความหมายทางจิตใจอย่างมากต่อญาติ เพราะทั้งผู้ต้องหาและครอบครัวส่วนมากจะนับวันรอเพื่อจะพบกันในวันที่มาศาล การที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กีดกันจนเกินความจำเป็นจึงเป็นการทำลายความสัมพันธ์ด้านมนุษยธรรมของครอบครัว

บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ควรปล่อยให้ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวทำลายคุณค่าของระบบยุติธรรมทั้งหมด จนไม่เหลือแม้ความสัมพันธ์ด้านมนุษยธรรมซึ่งถือเป็นคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ ซึ่งก็หวังว่าทั้งทนายความ ญาติ ราชทัณฑ์ ศาล รวมถึงตัวผู้ต้องหาเองจะมีโอกาสได้ทบทวนและหารือกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมใหม่

เมื่อปลายปี 2562 มีโอกาสไปดูงานที่ ศาลฎีกาแห่งเครือรัฐวิคตอเรีย ด้านหน้าบนตัวตึกอาคารศาลมีประติมากรรมเทพียุติธรรมซึ่งมีผ้าปิดตา มือหนึ่งถือดาบอีกมือถือตาชั่ง ขณะที่ภายในบริเวณศาลมีประติมากรรมอีกชิ้นชื่อ “Louisa as Justicia” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนผู้พิพากษา ตั้งอยู่ในระดับที่ประชาชนนั่งเสมอได้ ซึ่งใครต่อใครที่มาศาลสามารถมานั่งบ่น ระบาย หรือบอกความในใจต่อเธอได้

ท่านอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเครือรัฐวิคตอเรีย Robert Osborn กล่าวถึง Louisa as Justicia ว่า

“พวกคุณรู้ว่าความยุติธรรมมักอยู่บนยอดของตึกอย่างทะนงตัวโดยมีผ้าปิดตา มีดาบและตราชั่งในมือ แต่เมื่อใดที่พวกเขาเปิดผ้าปิดตา พวกเขาก็จะเห็นว่าเขาสามารถนำความยุติธรรมลงมาสู่ประชาชนได้จริงๆ โดยเธอ (Louisa as Justicia) เป็นผู้รับใช้ประชาชนและเธออยู่ในระดับเดียวกับพวกเขา โดยไม่เป็นสัญญาลักษณ์ของเผด็จการ”

“ประธานศาลฎีกาตั้งชื่อประติมากรรมนี้ว่า“Louisa as Justicia” ซึ่งหมายความว่า เธอเป็นผู้หญิง และเป็นศูนย์รวมแห่งความยุติธรรม และเธอนั่งอยู่ที่นั่น – นั่งอยู่ในระดับที่ผู้คนสามารถสัมพันธ์กับเธอได้โดยตรง แทนที่จะมองหาเธอบนยอดตึก”

“มันกลายเป็นจุดสนใจสำหรับความคิดที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาควรมี คือการมีมนุษยธรรม มากกว่าการรับรู้ต่อกฎหมายซึ่งแข็งกระด้างและเมินเฉย … นอกจากนี้เธอยังสะท้อนให้เห็นถึงรูปลักษณ์ภายในที่ไม่ใช่การเผชิญหน้ากับโลก แต่เป็นการสะท้อนภาพถึงโลกรอบตัว เป็นการคิดแบบสมัยใหม่เชิงซ้อน … ความคิดของผู้หญิง”