ทบ.แจง เหตุฉีดพ่นฆ่าเชื้อแนวชายแดน ย้ำเพื่อป้องกันโรค บริหารอุปกรณ์-กำลังพลเกิดประโยชน์คุ้มค่า

ทบ.แจง ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ชายแดน ที่ผู้หลบหนีภัยชาวเมียนมาเข้ามาพักพิงชั่วคราว เพื่อให้ปลอดเชื้อ ราษฎรไทยในพื้นที่สบายใจ เชื่อมั่น เผยน้ำยาฆ่าเชื้อจาก สธ.มีประสิทธิภาพ เผย ทบ.ส่งทีมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ตาม ร.ร.ต่างๆ ที่ร้องขอ สถานที่ชุมชน สถานีขนส่งใน 268 พื้นที่ และ 162 โรงเรียน

เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงข้อวิจารณ์เรื่องการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อชายแดนไทย-เมียนมา ว่าไม่คุ้มค่าและประสิทธิภาพในการฉีดน้ำยาบริเวณชายแดน ว่า เนื่องด้วยในช่วงต้นเดือนเมษายนมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาจำนวนมากได้เข้ามาพักชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัยแนวชายแดน และได้เดินทางกลับประเทศไปแล้วหลังเหตุการณ์คลี่คลาย หลังจบเหตุการณ์ กองกำลังชายแดนได้ปฏิบัติตามมาตรการดูแลพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย และการควบคุมป้องกันโรค เพื่อให้พื้นที่นั้นกลับสู่สภาพปกติ พร้อมทั้งได้ทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคป้องกันโรคติดต่อที่อาจแฝงมากับผู้หนีภัย ตามมาตรการด้านสาธารณสุข

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ ระบุว่า การฉีดพ่นฆ่าเชื้อ หน่วยทหารได้บริหารจัดการ สิ่งอุปกรณ์และกำลังพลที่มีอยู่แล้ว โดยเป็นอุปกรณ์ที่หน่วยใช้ในภารกิจช่วยดับไฟป่า พร้อมขอสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจากหน่วยงานสาธารณสุข เป็นการนำเครื่องมือของส่วนราชการที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าในการช่วยเหลือดูแลประชาชน

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า การรวมตัวกันของคนจำนวนมากในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยง การทำพื้นที่ให้สะอาด จึงเป็นมาตรการป้องกันโรคติดต่อ และลดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่และของเสียจากร่างกาย สุขอนามัยส่วนบุคคลในบริเวณที่เคยมีคนมาพักอาศัยเป็นจำนวนมากได้อีกทางหนึ่ง เป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยและป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดน

“ที่สำคัญเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนท้องถิ่น ในการกลับเข้าทำกิจกรรมต่างๆ ตามวิถีเดิม เช่น ปลูกพืชล้มลุก หรือหาอาหาร เป็นต้น” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน การทำความสะอาดล้างสิ่งปนเปื้อนและฉีดสารฆ่าเชื้อในพื้นที่สาธารณะ แหล่งชุมชน เช่น โรงเรียน วัด สำนักงาน ตลาด สถานีขนส่ง หน่วยทหารของกองทัพบกได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และประชาชนจิตอาสา ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในหน่วยทหาร และพื้นที่โดยรอบ

“โดยสรุปตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีการปฏิบัติใน 268 พื้นที่ และ 162 โรงเรียน ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพของกองทัพในการดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างดีที่สุด” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว