‘อนามัยโพล’ ชี้คลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ ทำคนไทย 62.1% กังวลติดโควิด-19

อนามัยโพลชี้คลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ ทำคนไทย 62.1% กังวลติดเชื้อโควิด-19

วันที่ 15 เมษายน 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของอนามัยโพล (Anamai poll) ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2564 ต่อประเด็นความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ จำนวนผู้ตอบจำนวน 1,696 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ การระบาดนี้ในระดับมาก ร้อยละ 62.1 ในขณะที่ไม่กังวลเลย ร้อยละ 2.9

โดยเรื่องที่ประชาชนกังวลมากที่สุดคือ การปกปิดไทม์ไลน์ไลน์ของคนที่มีประวัติไปสถานบันเทิง ร้อยละ 27.5 รองลงมาคือ บางจังหวัดยังเปิดให้บริการ ซึ่งอาจเสี่ยงแพร่เชื้อ ร้อยละ 24.4 และกลัวจะติดเชื้อจากคนที่มีประวัติไปสถานบันเทิง ร้อยละ 24.1 ส่วนประเด็นด้านสังคมที่ประชาชนกังวลได้แก่ ว่างงาน ขาดรายได้ ร้อยละ 6 และเศรษฐกิจซบเซา ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ จากสถานการณ์การระบาดในสถานบันเทิง ผับ บาร์ดังกล่าว พบว่ามีประชาชนร้อยละ 42 ที่จากเดิมไม่อยากฉีดวัคซีนเปลี่ยนมามีความต้องการ ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 33.3 ยังไม่แน่ใจว่าจะฉีด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สถานบันเทิงที่ยังไม่ได้ถูกสั่งปิดในบางจังหวัด ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ดังนี้

1) ให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ

2) ให้พนักงานหรือผู้ให้บริการ และผู้มาใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นนักร้อง นักดนตรี ให้ถอดหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาแสดงดนตรีหรือ ร้องเพลง และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่จำเป็นสำหรับพนักงาน คัดกรองพนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น หน้ากากอนามัย แผ่นใสครอบหน้า (Face shield) ถุงมือ เป็นต้น

3) จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือ เจลแอลกอฮอล์ไว้บริการในบริเวณต่าง ๆ ของสถานบันเทิง

4) จำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการไม่ให้แออัด

5) ลดระยะเวลาโดยการจองทางออนไลน์ และลดการสัมผัส เช่น มีระบบการจ่ายเงินแบบออนไลน์ใช้ถาดหรืออุปกรณ์ในการรับเงิน เป็นต้น

6) มีการจัดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างบุคคล โต๊ะในร้าน และระหว่างเวทีกับผู้มาใช้บริการ

7) ควบคุมไม่ให้มีกิจกรรมอื่นที่ใช้เสียงดัง (นอกจากการแสดงบนเวที) หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและการแพร่กระจายเชื้อ

8) ให้ทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกัน

9) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีสถานที่อยู่ในอาคารหรือเป็นพื้นที่ปิดควรจัดทำระบบระบายอากาศหรือปรับอากาศให้มีอัตราการหมุนเวียนของอากาศอย่างเพียงพอ และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่กำหนด

“ทั้งนี้ ในช่วงการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังคงต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing ล้างมือบ่อยๆ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ T : Testing ตรวจเชื้อโควิด-19 และ A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว