นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โควิดรอบนี้วิกฤตคนจน แนะใช้เงินกู้แบบทุ่มหมดหน้าตัก เร่งเยียวยาด่วน

‘บุรินทร์’ นักเศรษฐศาสตร์แบงก์กรุงเทพ ชี้โควิดระลอก3 วิกฤตคนจน แนะรัฐเร่งอัดเงินเยียวยากลุ่มถูกกระทบ เงินกู้ยังพอควรเทหมดหน้าตักฟื้นศก.64

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ว่า สถานการณ์หลังจากนี้สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำโดยด่วนคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก3 เพราะขณะนี้กิจกรรมการทางเศรษฐกิจถูกกระทบ ประชาชนไม่กล้าเดินทาง นักท่องเที่ยวมีปัญหา กิจกรรมทุกอย่างชะงัก แม้รัฐบาลไม่ห้ามแต่ความรู้สึกของประชาชนคือไม่อยากออกไปไหน เพราะกลัวโควิด

จะเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดใกล้ตัวมากขึ้น จากครั้งแรกมาจากนักท่องเที่ยว ต่อมาคือแรงงานต่างด้าว แต่ครั้งนี้คือแพร่ระบาดไปหมด ประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบ กลุ่มผู้บริหารองค์กรต่างๆกักตัว บางรายติดโควิด เป็นความเสี่ยง แม้ไม่มีการล็อกดาวน์แต่สถานการณ์หนักเหมือนล็อกดาวน์ และน่าจะหนักกว่าโควิดรอบสอง

“จะสังเกตว่าจากไทม์ไลน์ของคนส่วนหนึ่งติดช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน น่าจะเป็นเพราะใกล้วันหยุด คนเริ่มเฉลิมฉลอง คิดว่าโควิดคลี่คลายแล้ว นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การระบาดครั้งนี้กระจายในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ”นายบุรินทร์กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาจจะต้องออกมาตรการคล้ายเราไม่ทิ้งกันที่ช่วยเหลือตอนโควิดรอบแรก หรือเราชนะที่ช่วยเหลือตอนโควิดรอบสอง สรุปคือน่าจะต้องแจกเงินอีกรอบ เพราะเป็นความผิดของรัฐบาลที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการเยียวยาออกมา และวิกฤตนี้เป็นวิกฤตคนจน ไม่ใช่วิกฤตคนรวย ผู้ที่ทำงานราชการ หรือเอชน ไม่รู้สึกอะไร แต่กลุ่มที่มีอาชีพขายของ อาชีพบริการต่างๆ กลุ่มนี้จะขาดรายได้ทันที ได้รับผลกระทบหนัก

นายบุรินทร์ กล่าวว่า ขณะที่การกระจายวัคซีนในประเทศไทยก็ดำเนินการได้ช้ามาก ช้ากว่าประเทศอื่น ยกตัวอย่างประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้สดใสขึ้นมาก การจ้างงานดีขึ้น ค่าเงินแข็งขึ้น ขณะที่ประเทศไทยค่าเงินอ่อนลง การเติบโตของจีดีพีก็แย่ลง เพราะเปิดประเทศไม่ได้ เนื่องจากไทยพึ่งการท่องเที่ยว ซึ่งการที่ไทยไม่พร้อมด้านวัคซีนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงไม่อยากมา หากมาแล้วต้องกักตัว

“หากไทยเปิดประเทศไม่ได้แต่กิจกรรมภายในประเทศเดินไปได้คงไม่เป็นไร แต่เมื่อมีโควิดระลอก3 เข้ามา เท่ากับว่าเศรษฐกิจนอกประเทศพึ่งไม่ได้ เศรษฐกิจในประเทศทรุดอีก สถานการณ์คราวนี้จึงหนัก หลายมาตรการไม่รู้ว่าจะเวิร์คหรือไม่ อย่างซอฟท์โลนด์ มาตรการพักหนี้ ก็ต้องดูว่าจะส่งผลดีแค่ไหน ต้องรอดูดีเทลก่อน”นายบุรินทร์กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับวงเงินกู้ของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาทนั้น มองว่ายังเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์โควิดระลอก 3 เพราะโชคดีของประเทศไทยคือหนี้สาธารณะยังน้อยอยู่ระดับ 54% จึงสามารถกู้ได้อีกมาก ต่างประเทศเป็น 100% ดังนั้นรัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ อย่างประเทศอังกฤษมีการอัดฉีดเงินจนจีดีพีขึ้นมากว่า 20% แต่ของไทยขึ้นมาเล็กน้อยและมีสาเหตุมาจากปีที่ผ่านมาจีดีพีหดตัว

“ไทยกู้เงินมา 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้เหลือกว่า 2 แสนล้านบาท ควรใช้ให้หมด ควรอัดฉีดเงินในระบบเลย เป็นช่วงที่ต้องเทให้หมดหน้าตัก ไม่ควรกล้าๆกลัวๆ เพราะไทยมีฐานะทางการคลังค่อนข้างแข็งแรง ควรรีบใช้เงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจรอดในเวลานี้ เพราะไม่มีทางพึ่งอื่นแล้ว ในเมื่อแสงสว่างปลายอุโมงค์ของเราคือวัคซีน แต่ตอนนี้ก็ยังมาไม่มากพอ โดยประเด็นวัคซีนรัฐบาลควรทำแผนกระจายให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มอาชีพที่ต้องได้รับก่อน รวมทั้งกลุ่มอายุต่างๆ แนวทางนี้จะทำให้การกระจายมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”นายบุรินทร์กล่าว