จิสด้าประกาศ ดาวเทียม THEOS-2 ที่สร้างโดยคนไทยใกล้เสร็จ พร้อมทะยานขึ้นสู่อวกาศกลางปี 2565

จิสด้าประกาศ ดาวเทียม THEOS-2 ที่สร้างโดยคนไทยใกล้เสร็จ พร้อมทะยานขึ้นสู่อวกาศกลางปี 2565

วันที่ 13 เมษายน 2564 นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า(GISTDA) กล่าวว่า การดำเนินโครงการสร้างดาวเทียม THEOS-2 มีความคืบหน้าไปมาก ตอนนี้สำเร็จไปกว่า 65% ของแผนงานที่วางไว้แล้ว ซึ่งประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในไม่ช้านี้ โดยการดำเนินงานของระบบ THEOS-2 นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การพัฒนา Application ภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม และการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง

โดยดาวเทียมหลักขณะนี้อยู่ระหว่างการประกอบและทดสอบดาวเทียมให้เรียบร้อย และในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการตรวจสอบความพร้อมของดาวเทียมเพื่อการนำส่ง สำหรับดาวเทียมเล็กนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นของการตรวจสอบระบบก่อนนำไปทดสอบด้านสภาวะแวดล้อมในการทำงานจริง (Environment Test) ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเมื่อทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว ดาวเทียมเล็กจะถูกส่งมาทดสอบเพิ่มเติมที่อาคารประกอบทดสอบดาวเทียม หรือ อาคาร AIT ที่ประเทศไทย

ปกรณ์ อาภาพันธุ์

ผู้อำนวยการ จิสด้า กล่าวว่า สำหรับ THEOS-2 ที่เป็นดาวเทียมเล็กเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกที่มีมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมชั้นนำ( industrial grade) ที่สร้างโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน ซึ่งได้ร่วมออกแบบกับทางบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd. สหราชอาณาจักร และสร้างตัวดาวเทียมที่มีขนาดประมาณ 100-110 กิโลกรัม สิ่งสำคัญที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยได้รับในครั้งนี้ก็คือ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลก

เราได้ใช้ทุกๆโอกาสจากที่ได้ไปอยู่ ไปฝึก ไปเรียนรู้เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดในประเทศ ซึ่งเป็นการ training for the trainer ในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเสริมสร้างกำลังคนไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศ ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านอวกาศได้เอง โดยใช้บุคลากรไทยและองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย

นอกจากภารกิจของดาวเทียมเล็กในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศข้างต้นแล้ว ดาวเทียมเล็กดวงนี้ยังทำหน้าที่เสริมการบันทึกภาพบนพื้นผิวโลกให้กับดาวเทียมดวงต่างๆ ที่ จิสด้า ให้บริการ เป็นการเพิ่มฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ ดาวเทียมดังกล่าวจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2565 และจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 3 ปี

ทีมวิศวกรคนไทย

ด้านนายพรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักโครงการ THEOS-2 กล่าว ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบระบบดาวเทียมเล็กที่สหราชอาณาจักร ก่อนจะนำดาวเทียมเล็กมาทดสอบเพิ่มเติมที่อาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม หรือ อาคาร AIT ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบดาวเทียมเล็กก่อนนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 14 เดือน และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนดาวเทียมดังกล่าวจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 65 อย่างแน่นอน