กรมการแพทย์ ฉะรพ.เอกชน ไม่รับผู้ป่วยโควิด ชี้ไม่ใช่เวลาทำมาหากิน ควรช่วยชีวิตคน

กรมการแพทย์ ฉะรพ.เอกชน ไม่รับผู้ป่วยโควิด ชี้ไม่ใช่เวลาทำมาหากิน ควรช่วยชีวิตคน ถ้าเตียงไม่พอจริงต้องส่งต่อ หรือติดต่อกรมการแพทย์

วันที่ 11 เม.ย. 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 11 เม.ย. กทม.มีเตียงทั้งหมด 4,300 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 2,400 เตียง ซึ่งมีเตียงว่าง 1,900 เตียง การบริหารจัดการเตียงเราทำร่วมกัน 5 เครือข่าย หากผู้ป่วยยังหาเตียงไม่ได้ให้โทร. 1668 หรือ 1330 เพื่อประสานจัดหาเตียงรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ การระบาดครั้งนี้เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง แตกต่างจากกรณีอื่นๆ เพราะคนไข้จากผับแถวสุขุมวิท เป็นคนไข้ที่มีฐานะปานกลางถึงสูง ส่วนใหญ่ใช้บริการ รพ.เอกชน ตามข้อตกลงหากตรวจพบเป็นบวกให้ รพ.นั้นรับผิดชอบดูแลจนคนไข้มีเตียง หาก รพ.เอกชนนั้นเตียงเต็มก็ส่งต่อ รพ.เอกชนอื่นในเครือข่าย ปัญหาขณะนี้คือ รพ.เอกชนบางแห่งไม่ส่งต่อคนไข้ข้ามเครือข่าย และได้รับการร้องเรียนว่าบางแห่งเก็บค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย ซึ่งความจริงแล้วต้องดูแลคนป่วยโควิดฟรี

“อยากขอว่า เวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาทำมาหากิน เป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยชีวิตประชาชน รพ.เอกชนบางแห่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นการกระทำที่น่าเกลียด ทั้งนี้ การรักษาโรคโควิดของไทย คือ คนไข้ทุกคนต้องนอน รพ. แม้ระลอกนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่เป็นห่วงว่าจะแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุในบ้าน จึงขอให้ทุกคนนอน รพ.อย่างน้อย 5 วัน ให้แน่ใจว่าไม่มีอาการและปอดปกติ จะเคลื่อนย้ายให้ไปพักที่ รพ.สนาม หรือ Hospital เชื่อว่าอีกไม่กี่วัน สถานการณ์เตียงคนไข้ของรพ.เอกชนจะคลี่คลายลง” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า กรณีแม่พาลูก 10 เดือน ติดโควิดตระเวนหา รพ.เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก และเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทุกฝ่าย เพราะขณะนี้ รพ.เอกชนเตียงล้นมากจริงๆ แต่ถึงเกินศักยภาพ รพ.เอกชนก็ต้องรับผิดชอบส่งต่อผู้ป่วย จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยด้วย เรื่องนี้ตนจึงชี้แจงทำความเข้าใจกับทาง รพ.ให้ทราบอีกครั้งแล้ว นอกจากนี้ ยังเร่งจัดหาเตียงไว้รองรับผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องใช้เตียงมากน้อยแค่ไหน แต่พยายามหาอย่างเต็มที่ คือ 1.Hospitel เอาโรงแรมมาเป็นคู่สัญญากับ รพ. และ2.หาก รพ.เอกชนใดขยายเตียงเพิ่มได้ภายในพื้นที่ รพ.ก็ให้ดำเนินการโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการพิจารณา

ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า กรณีแม่พาลูก 10 เดือนหาเตียงรักษาโควิด ผอ.รพ.เอกชนดังกล่าวชี้แจงมายังตนแล้ว ระบุว่า รพ.มีศักยภาพ 120 เตียง ตอนนี้รับผู้ป่วยจำนวนมากเกินศักยภาพแล้วจำต้องปิดไป แต่กรณีแบบนี้ให้โทรมาที่สายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นศูนย์จัดการเตียงของ กทม. หรือสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะดำเนินการจัดหาเตียงรองรับให้ ตอนนี้ภาพรวม รพ.ทุกแห่งรับคนไข้เต็มจำนวนเตียงที่รองรับได้ บางแห่งมีศักยภาพ 120 เตียงแต่รับไปแล้ว 160 เตียง ถามว่าผิดหรือไม่ตามหลักแล้วกรณีที่ รพ.ศักยภาพรับไม่ไหวก็ต้องดำเนินการส่งต่อ แต่มีคำถามตามมาว่า ถ้าเกินศักยภาพของเขา เขาจะต้องปิดจุดตรวจแล็บหรือไม่ เราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อยากให้ดำเนินการตรวจเพื่อที่จะได้รู้ว่าใครติดหรือไม่ติดอย่างไร

“ตอนนี้ สบส.เร่งดำเนินการหาทางออกโดยยกระดับ AHQ ให้เป็น Hospitel ให้โรงแรมจับคู่กับ รพ.ทำหน้าที่เป็นเสมือนหอผู้ป่วย เพื่อรับผู้ติดโควิดเข้ามาดูแล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ได้มา 2,500 เตียงแล้ว รวมถึงจะมีการจัดตั้ง รพ.สนามอีกหลายแห่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา รพ.เตียงเต็มแก้ไปได้กว่า 90% แล้ว” ทพ.อาคมกล่าว