กสม.สรุปการชุมนุมปี 63 พบกระทบกระทั่งแต่ไม่รุนแรง ติงใช้น้ำแรงดันสูงเกินจำเป็นแก่เหตุ

กสม.สรุปเหตุชุมนุมปี 63 มีกระทบกระทั่งแต่ไม่รุนแรง ติงการฉีดน้ำสารเคมีสลายชุมนุมแยกปทุมวัน เกินสมควรแก่เหตุ ชี้ดีอีไล่ปิดบัญชีโซเชียลอาจกระทบสิทธิการแสดงความเห็น-เข้าถึงข้อมูล ห่วงวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง

วันที่ 11 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 โดยในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะ เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน

โดยมีการระบุตอนหนึ่งว่า สำหรับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองจากการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การชุมนุมของ กสม. ส่วนใหญ่พบว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในบางกรณี แต่ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี มีการชุมนุมสองกรณีที่บริเวณแยกปทุมวันและหน้ารัฐสภาที่รัฐใช้มาตรการยุติการชุมนุมโดยการฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งมีการผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่แยกปทุมวัน ซึ่ง กสม. เห็นว่ายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้มาตรการสลายการชุมนุม การฉีดน้ำผสมสารเคมีจึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ

อย่างไรก็ดีในภาพรวมรัฐยังคงทำหน้าที่ดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนโดยไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาดังกล่าวแม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้ในส่วนของการกระทำผิดระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมและออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากสอบปากคำผู้ชุมนุมจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างดำเนินคดีซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกติกา ICCPR แต่พบปัญหาอุปสรรคการจำกัดการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยพบว่าเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นจำนวน 50 คำสั่งศาล 1,145 URLs

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ

ทั้งนี้อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง อาจทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกันคุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การทำลายบรรยากาศแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล รวมทั้งกรณีการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาหลายครั้งผู้ชุมนุมนัดรวมตัวที่สถานีรถไฟฟ้าส่งผลให้มีการปิดสถานีรถไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน และพบว่ามีการทำลายทรัพย์สินเสียหาย