ศาลอาญา ออกแถลงการณ์แจง ให้สิทธิจำเลย คดีปักหมุดคณะราษฎรเต็มที่

ศาลอาญาออกแถลงการณ์แจงข้อเท็จจริงยันให้สิทธิจำเลยคดีปักหมุดคณะราษฎร สู้คดีปรึกษาทนายความ พบพ่อเเม่เต็มที่ ชี้เป็นสิทธิที่สำคัญ หากมีเหตุขัดข้องไม่เพิกเฉย เเจ้งผู้พิพากษาได้

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ศาลอาญาได้ออกใบแถลงข่าวสื่อมวลชน ความว่าตามที่ศูนย์ทนายความแห่งหนึ่งได้นำเสนอข่าวกระบวนพิจารณาคดีที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงศาลอาญาขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1.คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 287/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ และนายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชีวารักษ์ กับพวกรวม 22คน ศาลได้อนุญาตให้ญาติของจำเลย มวลชน ประชาชน ผู้แทนสถานทูตและองค์กรต่าง ๆ และสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวอย่างเต็มที่

แต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เกิดเหตุการณ์ที่จำเลยและมวลชนบางคนถือโอกาสทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่น ยืนแถลงการณ์ และขว้างปาสิ่งของในห้องพิจารณาโดยไม่สนใจกฎระเบียบ อันเป็นการขัดขวางกระบวน การพิจารณาและประพฤติตนไม่เรียบร้อย

ทั้งมีบุคคลแอบถ่ายภาพในห้องพิจารณาและนำไปเผยแพร่ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้การพิจารณาคดีวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จำเป็นต้องคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก รวมถึงเคร่งครัดในเรื่องเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดโดยให้ปิดการใช้งานและฝากไว้ตามจุดที่กำหนด แต่ได้อนุญาตให้ญาติของจำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีได้

2.ต่อมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างรุนแรงอีกครั้ง วันที่ 7-8เมษายน 2564 จึงจำเป็นต้องกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาคดี โดยให้เฉพาะบุคคลที่จำเป็นเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น ได้แก่ จำเลยทั้งหมด 22 คน พนักงานอัยการ ทีมทนายความจำเลย และตัวแทนสถานทูตต่าง ๆ มีจำนวนเกือบ 50 คน นอกจากนั้นให้อยู่ในดุลพินิจของศาล เพื่อให้สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ (Social Distancing) และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

3.ศาลได้จัดสถานที่ให้ญาติและผู้ที่จะเข้าฟังการพิจารณาเข้าไปรับฟังการถ่ายทอดภาพและเสียงด้วยระบบประชุมทางไกลทางจอภาพที่ห้องพิจารณาอีกห้องหนึ่งเพื่อให้ได้รับฟังการพิจารณาเช่นเดียวกับห้องพิจารณา

4.ศาลได้อนุญาตให้ญาติ มวลชน ผู้แทนสถานทูตต่าง ๆ และสื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้ตลอดมา ให้สิทธิจำเลยที่จะพบทนายความและพูดคุยกับทนายความอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้จำเลยพูดคุยกับบิดามารดา และญาติได้ หากขัดข้องอย่างไรแจ้งผู้พิพากษาได้

ซึ่งศาลอาญาถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญของฝ่ายจำเลยเสมอมาในทุกกรณี ไม่เคยเพิกเฉยตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด