โควิด-19 : ติดกันระนาว! ผู้บริหารปตท.-พนง.เนชั่น-ทีม รมช.สธ. แห่เข้ารพ.ตรวจจนเตียงเต็ม

วันที่ 9 เมษายน 2564 ผลพวงการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นหลังการพบคลัสเตอร์ใหญ่ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อนำไปสู่การพบผู้ติดเชื้ออีกหลายจุดทั่วประเทศ ล่าสุดวันนี้ มีรายงานว่า

บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศพบพนักงาน 2 คนติดโควิด-19 โดยได้รับการตรวจและยืนยันจากแพทย์ในวันที่ 8 เม.ย.2564 ว่าผลเป็นบวก ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว อยู่ระหว่างตรวจไทม์ไลน์

บริษัทได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการพร่ระบาดและความปลอดภัยของพนักงานตามข้อปฏิบัติของกรมควบคุมโรค ดังนี้ 1. ปิดพื้นที่หน่วยงานที่พนักงานสังกัดชั่วคราว เพื่อความสะอาด 2.ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคตามมาตรการปฏิบัติของกรมควบคุมโรค 3.ให้พนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเข้าตรวจหาเชื้อทันที โดยอยู่ระหว่างรอผลและกักตัวในที่อาศัยเวลา 14 วัน

เช่นเดียวกับที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายงานว่า นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังกรณีโรคอุบัติใหม่ COVID-19 (ศูนย์พลังใจ) บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยกรณีผู้บริหาร ปตท.ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 1 ราย ที่ปฏิบัติงานที่ชั้น 22 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต ได้รับการยืนยันผลการตรวจจากแพทย์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เนื่องจากได้เข้าประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับผู้บริหาร ส.อ.ท. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ซึ่งได้ทราบต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ว่าผู้บริหารของส.อ.ท. ติดเชื้อโควิด-19 ผู้บริหารของปตท.จึงรีบเข้าตรวจและทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19

ปตท.ตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ จึงให้ผู้บริหารและพนักงานทั้งหมดที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารรายดังกล่าว กักตัวและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน (Self-quarantine) โดยศูนย์พลังใจ ปตท. จะมีการติดตามรายงานสุขภาพอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ได้สั่งให้พนักงานทุกคนที่ปฏิบัติงาน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ทำงานที่บ้าน (Work from Home) จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2564

นอกจากนั้น ปตท. ยังดำเนินการฆ่าเชื้อโรคอาคารสำนักงานตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเข้ามาสอบสวนโรคตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพนักงานและชุมชนโดยรอบ

สำหรับการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ปตท.ในวันที่ 9 เมษายน นี้ ปตท.ห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ จึงเน้นดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด และได้ปรับเพิ่มใช้การประชุม Virtual Conference เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารที่ต้องกักตัวสังเกตอาการ ยังคงร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้แต่ตอนนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เพจ “หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ” ระบุว่าตนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากทีมงานทีมโควิด จึงขอกักตัวพร้อมแสดงไทม์ไลน์ ดังนี้

“ผมเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High risk) ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ” จึงขอปฏิบัติตัวเป็นแนวทางให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงตามมาตรการ กรมควบคุมโรค

ผมได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และมีภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว (อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบ Neutralising Antibody หรือไม่ ต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมครับ)

ดังนั้นผมและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในวันดังกล่าวจึงขอกักตัวเองตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด และจะตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันผลการไม่เจอสารพันธุกรรมของไวรัส COV-19

ผมเริ่ม กักตัวเอง และงดภารกิจงานต่างๆ ที่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อสังเกตอาการอีก 5 วัน แล้วรอการตรวจหาสารพันธุกรรม (ตรวจโควิด-19) อีกครั้ง ถ้าผลเป็นลบ ก็จะถือว่าไม่มีเชื้อจากการสัมผัสเสี่ยง และจะดำเนินการตามมาตรการของกรมควบคุมโรค ต่อไป

หลังจากผมทราบเรื่องว่ามีผู้ร่วมรับประทานอาหารกับผมในวันที่ 5 เม.ย.64 ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ท่าน ผมได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ผมได้แจ้งให้ทุกคนที่ได้เจอผมตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.64 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นผู้เสี่ยงต่ำไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องกักตัว ให้สังเกตอาการของตัวเอง หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เว้นระยะห่าง และใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา
2.ผมได้แจ้งให้ทุกคนในวันดังกล่าว “เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที”
3.ผมได้แจ้งให้ทุกคนในวันดังกล่าว “เขียน Timeline ของแต่ละคน” ชี้แจงกับผมและเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีข้อยกเว้น!!
ปัจจุบัน ถึงแม้ผลการตรวจหาสารพันธุกรรมของผมจะเป็นลบ แต่ผมถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงโดยอยู่ใกล้กับผู้ป่วยติดเชื้อ และต้องปฏิบัติตนตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

ผมได้แนบ Timeline ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ได้พบกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด มาในโพสต์นี้ อย่างละเอียด
หากใครที่สัมผัสกับผมในช่วงเวลาดังกล่าวขอให้สังเกตอาการตัวเอง หลีกเลี่ยงที่ชุมชน และใส่หน้ากากตลอดเวลาครับ
เราช่วยกันเองได้ ช่วยหมอและบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ด้วย ครับ

ไม่รับเพิ่มเพราะเตียงเต็ม

วันที่ 9 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมในประเด็นการบริหารสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีข่าวว่า รพ.เอกชนไม่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีเรื่องน้ำยาตรวจเชื้อหมด ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ยังมีอยู่ แต่ติดปัญหากฎเกณฑ์ โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแจ้งว่ากฎเกณฑ์ที่ว่าหากตรวจพบต้องรับรักษา ให้เดินไปที่อื่นไม่ได้ ทำให้ตอนนี้เตียงเต็มแล้ว ไม่สามารถตรวจต่อได้ จึงต้องแจ้งว่าไม่สามรถตรวจต่อ และมีการตีความว่าน้ำยาหมด

“จริง ๆ เป็นเรื่องของการต้องการจำนวนเตียงหรือการส่งต่อ โดย รพ.เอกชนระบุว่า ยินดีจะตรวจให้ แต่เตียงไม่พอ วันนี้นายกฯ สั่งการส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ กทม. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศปก.ศบค. ให้ประชุมกันหาทางออกเรื่องนี้” นพ.ทวีสิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การขยายศักยภาพเตียงใน กทม. สามารถทำได้ 5 พันกว่าเตียง และยังมีการเพิ่มการรักษาตัวในโรงแรมที่มีห้องว่างทำเป็น Hospitel ได้จำนวนหนึ่ง และมีทางเลือกที่ 3 คือ รพ.สนาม ซึ่งมีพื้นที่ของ รพ.บางขุนเทียน บางกอกอารีนา หลายพื้นที่จัดเตรียมทำได้ นายกฯ จึงสั่ง ศปก.ศบค.ประชุมบ่ายนี้เพื่อจัดการเรื่องนี้

ส่วนการผูกว่า รพ.เอกชนตรวจพบติดเชื้อแล้วต้องรับรักษาเลย ก็ไปหาข้อสรุปมาเพื่อผ่อนคลายด้านนี้ เพราะรพ.เอกชนเป็นความสะดวกของประชาชนที่เข้าไป ตรวจเสร็จเจอแล้วต้องหาทางส่งต่อ จัดรถรับส่ง พาไปยังจุดเป้าหมาย เช่น หากไม่มีอาการไม่ต้องนอนใน รพ. เปลืองทรัพยากร รพ. เอาไว้ให้คนป่วยมากๆ มีระบบแยกแยะ ปลัด สธ.ก็รับและจะไปประสาน โดยกรมการแพทย์เป็นแม่งาน จะปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์