‘โรม’ มอง 21 นักเคลื่อนไหวขอถอนทนาย ประท้วงความอยุติธรรม ศาลกำลังลอยตัวเหนือการตรวจสอบ

ปล่อยให้ความน่าสังเวชทำร้ายคนรุ่นหลังต่อไปไม่ได้! ‘โรม’ ชี้ ศาลที่ซ่อนตัวจากการตรวจสอบย่อมเป็นโทษต่อประชาชน หลัง 21 นักเคลื่อนไหวกลุ่มราษฎร ขอถอนทนายความประท้วงกระบวนการยุติธรรม เพราะห้องพิจารณาคดีได้กลายสภาพเป็นเรือนจำ

วันที่ 9 เมษายน 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า เมื่อวานนี้ (8 เมษายน 2564) ที่ศาลอาญารัชดา ได้เกิดเหตุการณ์ที่จำเลยคดีชุมนุมทางการเมือง #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวน 21 คน ขอถอนทนายความที่ช่วยสู้คดี เพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย, การละเมิดสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับระหว่างทนายความและลูกความ, การคุกคามทนายความโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์, การกีดกันไม่ให้ครอบครัวของจำเลยเข้าพบจำเลยหรือเข้าฟังการพิจารณาคดีทั้งที่ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ทำเสมือนว่าพ้องพิจารณาของศาลได้กลายเป็นคุกอีกแห่งหนึ่งไปเสียแล้ว

“ผมคิดว่าสังคมเราพูดกันมามากพอแล้วถึงเรื่องของการไม่อำนวยความยุติธรรมในการดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง พูดกันมาจนเสียงแหบแห้ง บางคนถึงกับยอมทรมานตัวเองอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบเดือนเพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาคือบรรดาบุคลากรของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, อัยการ, ศาล หรือราชทัณฑ์ ต่างไม่เคยรับฟัง การกระตุ้นเตือนใดๆ แม้กระทั่งที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่เคยปลุกมโนธรรมสำนึกของพวกเขาได้”

รังสิมันต์ ระบุต่อไปว่า จำเลยเหล่านี้ ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพวกเขาพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างซื่อตรง ไม่คิดหลบหนี ไม่คิดที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือขัดขวางการพิจารณาคดี ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าจะไปทำอันตรายต่อใครๆ

แต่แค่เพียงจะตระหนักว่าพวกเขายังเป็นบริสุทธิ์ต่อหน้ากฎหมาย มีสิทธิที่จะสู้คดีอย่างเต็มที่โดยปราศจากซึ่งพันธนาการ มีสิทธิได้อยู่กับครอบครัว ได้ใช้ชีวิตอย่างคนปรกติทั่วไปตราบที่ยังไม่พิพากษาถึงที่สุดว่าผิดจริง แค่เพียงเท่านี้ กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ยังให้ไม่ได้ แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าศาลมีอิสระ ไม่ถูกบงการจากคนนอกที่อยู่เบื้องหลังอย่างที่มีข่าวลือออกมา

“แล้วจะมีศาลไปทำไม ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่ต่างจากการเอาผู้ต้องสงสัยไปสำเร็จโทษล่วงหน้าแล้ว”

แล้วจะยังให้เรายอมรับสถานะของศาลที่ลอยตัวอยู่เหนือการตรวจสอบจากองค์กรอื่นได้อีกหรือ ในเมื่อคนทั่วไปทำผิดก็ยังมีศาลคอยพิพากษา องค์กรทางการเมืองอื่นๆ ทำผิดก็ยังมีศาลคอยวินิจฉัย แล้วถ้าศาลทำผิดบ้าง ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งเสียเอง ใครจะเป็นคนตัดสิน เราจะยอมรับให้ศาลตัดสินตัวเองได้หรือ

“ศาลอ้างมาโดยตลอดว่ากิจการของศาลต้องให้ศาลตรวจสอบกันเอง แต่ทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่าข้ออ้างเช่นว่านี้ได้กลายเป็นการสร้างกระดองอันหนาทึบของศาลในการปกปิดและกางกั้นสังคมออกไปจากตัวเอง แล้วก็คอยชี้เป็นชี้ตายผู้คนในสังคมจากกระดองหนาทึบนั้น ศาลที่เป็นเช่นนี้ย่อมเป็นโทษกับสังคม เป็นโทษกับประชาชน ดังที่เราก็ได้เห็นแล้วจากคดีผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ผ่านๆ มา และในฐานะรองเลขาธิการของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน ผมเห็นว่าเราจะปล่อยให้สภาพอันน่าสังเวชนี้ดำรงอยู่และดำเนินต่อไป ทำร้ายคนรุ่นหลังต่อไปอีกไม่ได้”
.
รังสิมันต์ ยังได้ระบุในช่วงท้ายว่าสำหรับในวันนี้ (9 เมษายน 2564) จะมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังอยู่จำนวน 9 คนอีกครั้ง จึงขอให้ติดตามความคืบหน้าต่อไป