มั่นใจโควิดเวฟ 3 กระทบหุ้นไทยไม่แรง-ฟุ้งต่างชาติเริ่มมีสัญญาณซื้อ 10 ปีถือหุ้นไทยเพิ่ม 68%

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงหากไวรัสโควิด-19 จะกลับมาระบาดระลอกที่ 3 เนื่องจากมั่นใจว่าภาคธุรกิจไทยมีการเตรียมแผนรับมืออย่างดีต่อเนื่องเป็นปีแล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์การระบาดและปรับตัวได้เร็ว ทั้งนี้อยากให้วิเคราะห์เป็นจุดๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งถูกกระทบมานานแล้ว ดังนั้นต่อให้ประเทศไทยเกิดการระบาดของ โควิด-19 ระลอกที่ 3 ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากขึ้น ฉะนั้นผลกระทบจะไม่รุนแรง

ทั้งนี้ ไม่อยากให้มองแค่ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นจะกระทบภาคเศรษฐกิจให้แย่ลง เนื่องจากผล กระทบจะน้อยลงแล้ว และในทางตรงข้ามที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มภาคการผลิต หรือเรียลเซ็กเตอร์ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ยังไม่ฟื้นตัวดี เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ฟื้นตัวไปแล้ว ดังนั้นหากประเทศไทยมีความชัดเจนในแง่การได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้การติดเชื้อรุนแรงลดลงเรื่อยๆ จะถือเป็นเป็นข่าวดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็วขึ้น และเมื่อนั้นเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย และแม้ว่าขณะนี้จะยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน แต่ก็เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกแล้วเช่นกัน

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศยังไม่ลดลง ดูได้จากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการถือครองหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 68% สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นไทย ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนต่างประเทศยังลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทย มาจากหลายสาเหตุ เช่น ทุกครั้งที่มีหุ้นใหม่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย โดยในวันแรกสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศยังไม่มาก หรือกรณีหุ้นที่ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ดังนั้นเมื่อหุ้นเหล่านี้ถูกเพิกถอนออกจากตลาด ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศลดลงไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกของตลาดหุ้นไทย คือ มีหุ้นพื้นฐานค่อนข้างมากและมีหุ้นที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเปิดจะได้รับประโยชน์ทั้งตัวเศรษฐกิจจริงและตลาดหุ้นด้วย

สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือนมี.ค. 2564 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ สาเหตุหนึ่งมาจากความคืบหน้าการกระจาย วัคซีนและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ คาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ประกอบกับมีการปรับพอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันจากอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 หรือ หุ้นเติบโต (Growth Stock) ไปยังอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจของประเทศ หรือหุ้นคุณค่า (Value stock) โดยราคาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า ดัชนีเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ ธุรกิจการเงิน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม บริการ สินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเดือนมี.ค. เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 95,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในไตรมาสแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,951 ล้านบาท ด้านผู้ลงทุนในประเทศยังมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 48% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่มีแนวโน้มลดลง ด้านผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพียง 87 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 29,370 ล้านบาท นอกจากนี้ในไตรมาสแรกปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเข้ามาระดมทุนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียนโดยสาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 2.42% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.3%