‘หอการค้าไทย’ เผยผลสำรวจ มี.ค.จุก!! นักธุรกิจทุกจังหวัด 94% โอดครวญศก.-การค้าแย่

ผลสำรวจ มี.ค.จุก!! ดัชนี้ความเชื่อมั่นลด นักธุรกิจทุกจังหวัด 94% โอดครวญศก.-การค้าแย่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม 2564 จากสำรวจภาคเอกชน 369 ราย ระหว่างวันที่ 23-29 มีนาคม พบว่า ธุรกิจทุกจังหวัดส่วนใหญ่ 94% ระบุว่าเศรษฐกิจและการค้า อยู่ในภาวะแย่ลงและไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลต่อการท่องเที่ยวหายไป กิจกรรมต่างๆยังไม่กลับเท่าปี 2562 กังวลเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง ส่วนราคาพืชผลเกษตรดีแต่ด้วยบางพื้นที่เจอภัยแล้งผลผลิตต่ำลงจึงกระทบต่อรายได้ที่ได้รับลดลง ส่งผลต่อกำลังซื้อหดตัวอยู่มาก ซึ่งดูจากดัชนีทุกรายการลดต่ำลงทั้งมุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การบริโภคในจังหวัด การท่องเที่ยวในจังหวัด อุตสาหกรรมและการค้าในจังหวัด รวมถึงการค้าชายแดน ภาคบริการและการจ้างงาน ทำให้ค่าดัชนีทุกรายการต่ำกว่าระดับ 40 สะท้อนเศรษฐกิจทุกจังหวัดเปราะบาง ภาวการณ์ประกอบการแย่ลงทุกธุรกิจ และเศรษฐกิจฟื้นตัวเองไม่ได้ ธุรกิจจึงเสนอให้รัฐบาลเร่ง 4 เรื่องด่วนเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/2564 ได้แก่

1.เร่งพิจารณาแผนผ่อนคลายภายในประเทศและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ 2.พิจารณากฎระเบียบการเดินทางเข้าออกประเทศ เช่น ใช้วัคซีนพาสปอร์ต ควบคู่กับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรค 3.เร่งกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกส่วนอย่างเร็วและทั่วถึง เพื่อให้การดำเนินชีวิตเข้าภาวะปกติเร็วขึ้น 4.ออกมาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพกิจการและแรงงาน ให้ปรับมาทำธุรกิจได้ปกติหลังโควิด-19 คลี่คลายลง

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ดัชนีทุกรายการปรับลดลงอีกครั้ง เนื่องจากความวิตกกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชุมนุมทางการเมืองจากนี้ ทำให้ประชาชนมีมุมมองแย่ลงต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอีก 6 เดือนข้างหน้า รวมถึงรายได้ และโอกาสหางานทำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ 42.5, 45.3 และ 57.7 ตามลำดับ จากเดือนกุมภาพันธ์ 43.4, 46.1 และ 58.7 ตามลำดับ

จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ 48.5, 32.9 และ 55.8 ตามลำดับ จากกุมภาพันธ์อยู่ที่ 49.4, 33.7, 56.8 ขณะที่ ผลสำนวจต่อภาวะใช้สอยภาคประชาชนและภาวะทางสังคม พบว่า ทุกรายการปรัยลดลงอีกครั้งเช่นกัน ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้

“ประชาชนยังติดตามและกังวลต่อการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการล็อกดาวน์ ในจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ ตอนที่สำรวจนั้นที่ดัชนีลดลง 1-2 จุด เพราะ ศบค. ประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้ำและปาร์ตี้โฟมในช่วงสงกรานต์ บวกความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม ซึ่งหากตอนสำรวจมีเรื่องมีคลัสเตอร์ทองหล่อและตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงพุ่งและมีการติดเชื้อในทุกวงการดัชนีคงลดลง 2-3 จุด ดังนั้น ทิศทางการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นจากนี้คงใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน หรือค่าดัชนีอาจลดลงต่อเนื่องในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ตัวแปรที่จะฟื้นเศรษฐกิจ คือ การชะลอกของการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ควรล็อกดาวน์ประเทศจนต้องปิดกิจการชั่วคราวอีกครั้ง ควรพิจารณาตามพื้นที่ที่จำเป็น เดินตามแผนการฉีดวัคซีนและแซนบ็อกซ์เปิดรับนักท่องเที่ยว และรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ภาคธุรกิจ และเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนเพื่อกระตุ้นใช้จ่าย ต่อไตรมาสไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท