โฆษกเพื่อไทย อ่านเกมเตะถ่วง พ.ร.บ.ประชามติ สรุปแล้วคือ วุฒิสภามติ ?

7 เมษายน 2564 น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์รายละเอียดที่เรื่อง“ประชามติ หรือ วุฒิสภามติ” เป็นปัญหาที่ดูจะยากเย็นแสนเข็นเหลือเกินกับแค่เรื่องการทำประชามติ และ การจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ล่าสุดมีแววจะโดนเท โดนเตะถ่วงอีกแล้ว เมื่อมีท่านสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เริ่มออกมาส่งเสียงกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ส่อแววคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

ล่าสุดกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติให้แก้ไขเนื้อหา ม.9 ของร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเข้าไป โดยให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนเข้าชื่อได้ ซึ่งจากเดิมให้เป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรีฝ่ายเดียวนั้น ก็เริ่มจะมีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่า อาจจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไข ม.9 นั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ยกตัวอย่างคำกล่าวของ ส.ว. สมชาย แสวงการ กล่าวว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.166 เพราะเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติเหนือฝ่ายบริหาร หรือของ ส.ว.วันชัย ที่กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะมีสมาชิกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก เพราะการเพิ่มเติม ม.9 นั้น มองว่าเป็นการแก้ไขเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ว. คำนูณ สิทสมาน ก็กล่าวว่าการแก้ไข ม.9 ของร่าง พ.ร.บ. ประชามติ มีความขัดหลักการตรวจสอบ ถ่วงดุจอำนาจและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่าแม้ทาง ม.116 จะระบุว่าเป็นไปตามกฎหมายบัญบัติ แต่กฎหมายควรแค่ขยายความไม่ใช่การบัญญัติเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ

ดูจากสิ่งที่ท่าน ส.ว.ทั้งหลายเหล่านี้กล่าวออกมาก็ส่อแววให้เห็นแล้วว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันอาจจะมีความพยายามเตะถ่วงเวลาไปอีกแน่ๆ (หากคาดตามสิ่งที่เห็น) คำถามคือ ทำไมมันจะยากเย็นขนาดนี้ กับอิแค่การจะคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง

หากแง้มไปดูในประเทศแถบยุโรปอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยทางตรงผ่านการทำประชามติมาอย่างยาวนานกว่า 150 ปี การทำประชามติเป็นเรื่องปกติสามัญทั่วไปในชีวิตของคนในประเทศนี้มาก

โดยเขาทำประชามติกันเป็นประจำ ปีละ 4 ครั้ง แต่หากปีไหนมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรด้วย จำนวนครั้งของการลงประชามติก็อาจจะลดลงเหลือปีละ 2-3 ครั้ง ความสำคัญคือ ประชาชนมีอำนาจเข้าชื่อเสนอทำประชามติ คัดค้านกฎหมาย-แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วยซ้ำไป

โดยประชาธิปไตยทางตรงในสวิตเซอร์แลนด์แบบได้ถึง 3 รูปแบบหลักๆ คือ 1. การออกเสียงประชามติในประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทำประชามติ 2. การออกเสียงประชามติเมื่อประชาชนต้องการคัดค้านกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา และ 3. การออกเสียงประชามติเมื่อประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าประชาชนมีอำนาจที่จะ veto สิ่งที่รัฐเสนอและทำ

ความสำคัญของการทำประชามติบ่อยๆ แบบนี้ เขาไม่ได้มาเถียงกันว่ามันจะทำให้รัฐทำงานลำบากหรือไม่ แต่ความสำคัญของมันคือ มันจะทำให้รัฐตระหนักอยู่เสมอว่า รัฐจะไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ หรือ จะทำไรก็ต้องตระหนักให้ดีว่า สิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชนและ นี่คือรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และ นี่คือระบอบการปกครองที่มีอำนาจอยู่ที่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินใจแทนประชาชนแบบที่เป็นอยู่ในบ้านเราแบบนี้ หรือ มุ่งแต่จะเตะถ่วงพยายามสืบทอดอำนาจตัวเองแบบ มันเลยเกิดคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราว่า “ทำไมการทำประชามติในบ้านเรามันถึงยากเย็นแสนเข็ญขนาดนี้” ทำไมดูแล้วเป็นปัญหาหนักขนาดนี้ อิแค่จะใช้อำนาจประชาชนในการแสดงความเห็นในแสดงเจตจำนงของประชาชนแค่นั้น

จากความยุ่งยากที่เกิดขึ้นนี้ มันเลยสะท้อนให้เห็นว่า 1. เพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มีประชาธิปไตยจริงๆ ใช่ไหม 2. ผู้มีอำนาจต้องการยื้ออำนาจตัวเองแค่นั้นใช่หรือไม่ และคำถามสำคัญคือ 3. ประชาชนอยู่ส่วนไหนในสมการการเมืองของผู้มีอำนาจตอนนี้

จากสิ่งเหล่านี้มันพอจะสรุปได้ไหมว่า รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจตอนนี้ไม่ได้มีความจริงใจจริงจังอย่างยิ่งที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่เขาเพียงต้องการยื้ออำนาจโดยการเขียนเครื่องมือทางอำนาจของตัวเองขึ้นมาให้ประชาชนเดินตามเกมส์ของเขา และ อ้างสิทธิความชอบธรรม ที่ไม่ชอบธรรมนี้จากอำนาจประชาชน

อ้างอิง : https://ilaw.or.th/node/4225?fbclid=IwAR0VdY_ic-hx_qpdjeeqnHeKPkzF0NRxIoQ-bBCdHm9uKC93yXnlqiUmut4