1 ปี พรก.ฉุกเฉิน : วงเสวนาห่วง รัฐกดปราบผู้เห็นต่าง ด้วยกม.เกินเหตุ-ไม่ได้สัดส่วนแบบไร้ตรวจสอบ

วันที่ 7 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 10.25 น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสุโกศล พญาไท แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเวทีเสวนาในวาระเปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเรื่อง “มองสิทธิมนุษยชนไทยในห้วง 1 ปี พรก.ฉุกเฉิน” ว่าภายใต้การบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน โดยรัฐบาลส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

ดร.พัชร์ นิยมศิลป จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2557 เราอยู่กับกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลทหาร และพอแปลงมาอยู่รัฐบาลปัจจุบันที่เรียกว่า ระบอบลูกผสม กลไกประชาธิปไตยทำงานไม่เต็มที่ แต่เพราะอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว ในปี 2562 ไทยมีการเลือกตั้งหลังห่างหายหลายปี ทำให้เกิดการลุกขึ้นของคนที่ตระหนักเรื่องสิทธิ 7 ปีที่ห่างจากการเลือกตั้งยาวนานแค่ไหน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พวกเขาตื่นตัวเต็มที่ แต่ในปีต่อมา พรรคอนาคตใหม่ที่มีฐานเสียงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกยุบ ก็เกิดการลุกฮือในระดับมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโรงเรียน

หลังจากนั้นผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน ก็เกิดการระบาดของโควิด การชุมนุมก็หดตัวลง ทีนี้เกิดการระบาดใหญ่จากคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี 26 มีนาคม มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด  จนมาถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ก็เกิดการรวมตัวในนาม “เยาวชนปลดแอก” เราเห็นว่าจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยมาลงท้องถนน และการชุมนุมจุดเปลี่ยนวันที่ 10 สิงหาคม ในนาม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”

การใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีทฤษฎีว่าด้วย ความไม่ปกติ ซึ่งก็คือ ต้องมีเหตุฉุกเฉินที่เป็นภัย ต่อมาคือกลไกกฎหมายนั้นไม่มีประสิทธิภาพที่กฎหมายปกติรับมือไม่ได้ ต่อมากฎหมายที่เกี่ยวฉุกเฉิน ต้องได้ความคุ้มค่าและเป็นสัดส่วนมากพอ หลักข้อนี้ปรากฏใน ICCPR ข้อหา 10 (1) ต้องมีเหตุที่ผลกระทบต่อความอยู่รอดของชาติ ข้อ (2) มีผลต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ และไม่กระทบต่อความแตกต่าง จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ การยกเว้นนั้นได้แค่บางข้อเช่น การรวมตัวชุมนุม แต่การซ้อมทรมาน ยกเว้นไม่ได้

“มีหลายประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือ ในกรณีประเทศไทย ก็มี พรบ.ควบคุมโรคที่ออกแบบเพื่อรับมือ ซึ่งมีอำนาจใช้เพียงพอ แต่รัฐบาลกลับรู้สึกไม่พอ จนทำให้ต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษ คำอธิบายในการเรื่องการประกาศอยู่ตรงไหน เช่น มีการขัดแย้งทางอาวุธ หรือถ้าเป็นเรื่องอื่น รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความชอบด้วยกฎหมายต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น พอดู พรก.ฉุกเฉิน นิยามไว้ยาวมาก พอโควิดมาก็เข้ากับนิยม

กรณีความเป็นกังวล คือการใช้โควิดจำกัดสิทธิ บางที่อ้างเพื่อใช้ผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น การเก็บข้อมูลที่ล้วงล้ำพรมแดนสิทธิส่วนบุคคล หรือปิดปากการแสดงออกทางการเมือง

ปัญหาของไทยในการใช้ พรก.ฉุกเฉินคือ การขยายเวลา นายกรัฐมนตรีขอครม.ขยายเวลา ปัญหาของระบบ ในต่างประเทศการทบทวนขยายเวลาต้องให้รัฐสภาพิจารณา แต่ไทยกลับให้คณะรัฐมนตรีต่อเวลาอย่างเดียว ปัญหาคือประกาศจะยกเลิกยังไงอยู่ที่ฝ่ายบริหาร

อีกปัญหาคือ การรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐจากการกระทำเกิดกว่าเหตุและไม่สุจริต กระบวนการประชาชนเพื่อไปร้องเรียนนั้นมีหรือเปล่า การเลือกปฏิบัติ เวลาใช้ พรก.ฉุกเฉิน ใครเป็นคนตรวจสอบการใช้อำนาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ องค์กรอิสระหายไปไหน ตอนเกิดเหตุการณ์ ผมจับตาดู กสม.มาตั้งแต่ประกาศ แต่ตัวละครนี้กลับไม่มีบทบาท แล้วด้านศาล ศาลมีเจตจำนงในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแค่ไหน หรือพอตรวจสอบก็ติดเงื่อนไขวิธีพิจารณา ติดตรงเนื้อหาแต่ไม่อำนวยความยุติธรรม

แม้แต่ความแตกต่าง ระหว่าง พรบ.ควบคุมโรค กับ พรก.ฉุกเฉิน ก็คือเจ้าภาพนำ พรบ.ควบคุมโรค คนนำคือ กระทรวงสาธารณสุข แต่พอเป็น พรก.ฉุกเฉินนั้นคนนำกลับเป็นฝ่ายความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร

3 จังหวัดชายแดนใต้ กฎหมายพิเศษพันลึก

ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งติดตามสถานการณ์ใช้พรก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถูกใช้พรก.ฉุกเฉินและต่ออายุมาแล้ว 15 ปี 9 เดือน ซึ่งระยะเวลาแบบนี้เปรียบเหมือนยารักษาโรคตัวเดิม นี่เป็นปัญหาที่อัมพาตหนักแล้ว ก็กลัวว่าโควิดจะต่ออายุแบบเดียวกันไหม

พรก.ฉุกเฉินแรกเริ่มถูกใช้เพื่อใช้รับมือสถานการณ์หลังเหตุปล้นปืนในค่ายทหาร แล้วพอเกิดรัฐประหาร 2549 ก็ใช้ประกาศกฎอัยการศึก พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เจอกฎหมายความมั่นคงซ้อน 2 ฉบับคือ พรก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกษา จากประสบการณ์การทำงาน เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ติดตามผู้ก่อเหตุและเรียกคนนั้นว่า “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อโยงไปสู่คดีความมั่นคง และทำให้เกิดการความสะดวก และส่งผลไปถึงกระบวนการยุติธรรม

ลำดับของการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารอย่างมาก คดีต่างๆที่ตามหลังการระเบิดคือการติดตามจับกุม และกฎหมายพิเศษยังให้อำนาจการในควบคุมตัวบุคคลที่ใดก็ได้ที่ใช้เรือนจำ ในเวลา 7 วันโดยที่ทนายความเข้าไม่ถึง ใน 3จังหวัดชายแดนใต้ จะไม่เรียกว่าควบคุมตัว จะเรียกว่า “เชิญไปคุย” พัฒนาการของการใช้อำนาจ 2 ฉบับนี้ ตรวจสอบได้ยากตามลำดับ แรกๆจะเห็นการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจได้พบในนามองค์กร ไม่ว่า บาดแผล ร่องรอยกับบุคคล

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาสังคมอ่อนแอลงมาก เพราะกฎหมายพิเศษ และทำให้ชาวบ้านไม่กล้าให้ข้อมูล

การบังคับใช้มีปัญหา

ขณะที่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.ว่า นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช.เข้ามา ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการเชิญตัวเข้าค่ายปรับทัศนคติ นี่คือลักษณะการใช้กฎหมายแบบที่ว่านี้ ศูนย์ทนายฯก่อตั้งหลังการรัฐประหาร 2 วัน เราอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษแล้ว 6 ปี 1 เดือน เราอยู่ในกฎหมายอัยการศึกษาและจากนั้นอยู่กับ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/58 แล้วก็กลับมาอยู่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน 6 มีนาคม 2563 ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เรากลับใช้กฎหมายแบบนี้จนเป็นเรื่องปกติ

ภายใต้ภาวะ 1 ปี พรก.ฉุกเฉิน ช่วงแรกห้ามการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เรามี พรบ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 58 ยกเว้นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พอเราประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็งดเว้นการบังคับใช้ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ แต่ว่าพอเดือนพฤษภาคม มีการชุมนุมเรียกร้องกรณีวันเฉลิม กรกฎาคม 63 ก็มีเยาวชนปลดแอก รัฐบาลได้ประกาศว่าพรก.ฉุกเฉินไม่ได้ใช้เพื่อจำกัดการชุมนุม จึงนำ พรบ.ชุมนุมสาธารณะกลับมาใช้

ปัญหาคือช่วงนั้น พอมีการชุมนุม ก็ดำเนินคดีทั้งพรบ.ชุมนุมสาธารณะและพรก.ฉุกเฉิน พอ 15 ตุลาคม 63 ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เป็นชุดแรกที่มีการควบคุมตัวไป ตชด.ภาค 1 แต่ระหว่างที่ใช้กฎหมายอย่างลั่กลั่น ตำรวจบังคับใช้ยังไง เราพบว่า มีกรณีเจ้าหน้าที่แจ้งความทั้ง พรบ.ฉุกเฉินและพรบ.ชุมนุม ซึ่งไม่ถูกต้อง

จากสถิติที่ผ่านมา มีคนที่มาชุมนุมถูกดำเนินคดี 126 คดี จำนวน 373 คน ทำให้เกิดคำถามว่าใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดจริงๆหรือไม่ ล่าสุดเกิดกรณีบ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล เช้าวันที่ 28 มีนาคม มีการสลายการชุมนุมในเช้ามืด มีการให้ระยะเวลาเก็บของที่ไม่ได้สัดส่วน ถูกจับไป 11 คน และมีจับอีกตอนเย็น 33 คน ทั้งที่ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบ

แม้ภาวะฉุกเฉินมีการจำกัดสิทธิได้ แต่ปัญหาคือ เราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ การใช้บังคับใช้จะต้องเป็นตามสัดส่วนและจำเป็นเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่กลับดำเนินคดีทั้ง พรบ.การชุมนุมสาธารณะแลพรก.ฉุกเฉิน แต่การสลายการชุมนุมกลับไม่เป็นไปตาม พรบ.ชุมนุมสาธารณะ บางครั้งแม้มีผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงอย่างขว้างขวด น้ำปลาร้า เจ้าหน้าที่ต้องจัดการเฉพาะบุคคลดังกล่าวเท่านั้น

หลังเกิดกรณีบ้านทะลุฟ้า ทำให้มีจำนวนการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเป็น 457 คน 136  คดี