ปิยบุตร ลั่น ขอจัดการ “รื้อระบอบประยุทธ์” ตอนนี้ยังไม่แตะ รธน.หมวด 1-2

“ปิยบุตร” ตั้งเป้าล่าชื่อแก้ รธน. 6 เดือน หวังได้ล้านชื่อกดดัน สว. ชี้ ไม่แตะหมวด1-2 ไม่ใช่ ไม่สนใจ แต่ขอรื้อระบบประยุทธ์ ก่อน ‘ไอติม’ ย้ำเดินคู่ขนานแก้ รธน.รายมาตรา

วันที่ 6 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 15.00 น.ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดกิจกรรม “ขอคนละชื่อระบอบประยุทธ์” ว่า เหตุผลที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น เราทำในนามของกลุ่ม Resolution ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ 4 องค์กร คือ 1.คณะก้าวหน้า 2.พรรคก้าวไกล 3.กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ โครงการอินเตอร์เนต เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ โดยการลงชื่อครั้งนี้คือการเข้าชื่อตามสิทธิรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นการใช้สิทธิ์ของประชาชน ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 5 หมื่น คนขึ้นไป

เข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 มี 3 ช่องทางใหญ่ๆ คือ 1.การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งฉบับ และทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ซึ่งในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ด้วยวิถีนอกรัฐธรรมนูญคือการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและเขียนฉบับใหม่ ซึ่งเราไม่ประสงค์ให้เกิด

จึงมีวิธีการที่ 2 คือการทำประชามติ เพื่อเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วให้ประชาชนร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ โดยปราศจากข้อจำกัด ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำประชามติภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ แต่ต้องเป็นประชามติตามอำนาจสถาปนาของประชาชน

นายปิยะบุตร กล่าวว่า ช่องทางที่ 2 ที่ได้ทำไปแล้วคือการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร)เพื่อทำใหม่ทั้งฉบับ แต่ปรากฏว่าถูกเบี้ยวลงไปดื้อๆ ถูกทำให้ตกไป ส่วนช่องทางที่ 3 คือการแก้ไขรายมาตรา โดยในรัฐสภาเริ่มมีการพูดกันแล้ว แต่เป็นประเด็นที่เล็กมาก เช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง ก็เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง

หรือแก้ไขมาตรา 144 ให้ ส.ส.สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการใช้งบประมาณ ที่ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดทางโครงสร้างใดๆ จึงเป็นที่มาให้กลุ่มของพวกเราจัดกิจกรรมรณรงค์ออกมาใช้สิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อเสนอแก้ไขรายมาตรา แล้วเสนอแก้ประเด็นใหญ่ๆ เป็นการแก้ไขเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกลไกหลายอย่าง ที่ค้ำยันระบอบประยุทธ์ไว้ได้

เมื่อถามว่า มีการเสนอจะแก้ไขอำนาจที่มาของสว.จะเป็นไปได้หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเสียงของรัฐสภาไม่แยแสเสียงของประชาชน ตีตกในข้อเสนอ หลายคนเป็นห่วงว่าล่ารายชื่อไปก็หวั่นจะโดนตีตกอีก แต่ครั้งนี้จะแตกต่างจากเดิม โดยจะรณรงค์ให้ได้รายชื่อมากขึ้น และรณรงค์ในประเด็นที่พุ่งตรง ที่เป็นใจกลางของปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ส.ว. 250 คน ซึ่งถ้าหากเราได้รายชื่อหลายแสนคนหรือเป็นล้านคน สว.ทั้ง 250 คนจะต้องถูกกดดัน ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และหากสวยังไม่แยแสเสียงเรียกร้องของประชาชน ผลลัพธ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า ตั้งเป้าการล่ารายชื่อไว้ใช้ระยะเวลาเท่าไร นายปิยบุตร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 4 ปีของการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 60 เฉลี่ยประเทศเรามีรัฐธรรมนูญมา 4 ปีครึ่ง ต่อ1 ฉบับ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ดังนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาทบทวน และประชาชนก็เห็นอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชมาพอสมควรจึงต้องเริ่มรณรงค์ โดยตั้งเป้าแรก 6 เดือน และดูว่าจะได้จำนวนรายชื่อมากพอหรือไม่ แต่ต้องให้เกิน 5 หมื่น หรืออาจจะถึงหลักแสนหลักล้านเพื่อให้เป็นนัยยะสำคัญในการส่งเสียง ไปถึงสถาบันการเมืองและสว.

เมื่อถามว่า หมวด 1 และหมวด 2 นั้นเป็นการลดเพดานเพื่อเพิ่มแนวร่วมใช่หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ต้นยังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำทั้งฉบับ โดยเฉพาะในหมวด 2 มีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ห้ามการแก้หมวด 1 และหมวด 2 แต่สำหรับการรณรงค์ในครั้งนี้ เรามุ่งเน้นไปที่กลไกการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจ ของคสช.ไว้ ส่วนประเด็นสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็จะรณรงค์ทางความคิดและทางวิชาการต่อไป

อนาคตหากต้องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มีประเด็นใดบ้างที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย วันนี้เรามุ่งเป้าที่ 4 ประเด็นใหญ่ คือการยกเลิกวุฒิสภา โล๊ะศาลรัฐธรรมนูญเรื่องขององค์กรอิสระ การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ ล้างมรดกคณะรัฐประหาร การไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้สนใจเรื่องนั้น วันนี้เราแค่รณรงค์ 4 ประเด็นนี้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้สนใจเรื่องหมวด 1 และหมวด 2” นายปิยบุตร กล่าว

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กล่าวว่า ขอย้ำว่าเราจะเดินถนนคู่ขนาน มี 2 ประเด็นที่แตกต่างกันออกไป ประเด็นแรกคือ การมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 2. การที่เราก็เดินคู่ขนานโดยการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ต้นตอของปัญหาทั้งหมด คือการที่ระบอบประยุทธ์หรือคสช.ใช้ในการสืบทอดอำนาจ

โดยจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือการรื้อวุฒิสภา 250 คน เพราะเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจน เพราะมาจากการแต่งตั้ง ของคสช. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี จัดตั้งองค์กรอิสระ ปฏิรูปกฎหมายประเทศ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าจะสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจได้จำเป็นจะต้อง รัฐสภาเดี่ยวที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน

ประเด็นที่ 2 คือการ ปฏิรูปที่มา และอำนาจ ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ปัจจุบันองค์กรเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองจากสว. ทำให้ประชาชนขาดความศรัทธา และตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง เพราะฉะนั้นถ้ายุบเหลือสภาเดี่ยวและใช้กระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้เกิดการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

รวมไปถึงการวางขอบเขตอำนาจให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ากระบวนการ ยุติธรรมกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการตรวจสอบทุจริต มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ประเด็นที่ 3 คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เพราะอันตรายตรงที่ว่าหาก นักการเมืองคนไหนไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีข้างหน้าก็จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้

ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลควรมีความยืดหยุ่นและเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประเด็นสุดท้ายคือการล้างมรดกรัฐประหาร โดยการยกเลิกมาตรา 279 ที่ปัจจุบันเป็นการนิรโทษกรรมให้คำสั่งคสช.ทุกฉบับเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจะต้องมีการยกเลิกมาตรานี้เพื่อหวังให้ประเทศไทยปลอดการรัฐประหาร