โฆษก พท.เปิดอีกมุมข้อมูลโครงจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ กับสิ่งที่ คสช.ทำ ชี้ความรับผิดชอบผู้นำที่มีต่อ ปชช.

ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์รายละเอียดที่แท้จริงอีกมุมหนึ่งตั้งแต่แรกเริ่มโครงการจำนำข้าว หลังศาลปกครองกลางมีคำตัดสินมาว่า

 จำนำข้าว : ความรับผิดชอบของผู้นำที่มีต่อประชาชน

หลายคนคงได้อ่านข่าวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ที่ศาลฯมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 ล้านบาท (35.7 หมื่นล้านบาท) กรณีโครงการรับจำนำข้าว พร้อมให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์-ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดี

ศาลให้เหตุผลว่า “ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธาน กขช. ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบาย ลำพังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้”

เมื่อเราย้อนดูแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่แถลงต่อรัฐสภาวันที่ 27 สิงหาคม 2554 ได้จัดแบ่งการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ออกเป็น 8 ด้าน โดยในข้อแรก คือนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก

ในนโยบายเร่งด่วนเหล่านั้น ยังมีการ “ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า

รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจาก การรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท….”

หญิงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโครงการรับจำนำข้าว ว่ามีหลักการ วิธีการ เหตุผล และผลสำเร็จอย่างไร

——–หลักการจำนำ——–
รัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาโดยตรง โดยประกาศราคาตลาดเอง และรับซื้อจากชาวนาโดยตรง วิธีการนี้ทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดสูงขึ้น และสร้างอุปสงค์-อุปทาน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกาศราคารับซื้อเอง เมื่อราคาสูง พ่อค้าคนกลางไม่รับซื้อในราคาตลาด เพราะได้กำไรน้อย เมื่อไม่ซื้อ ก็ไม่มีข้าวขาย สุดท้ายก็ต้องมาซื้อข้าวจากรัฐบาล


1.รัฐบาลประกาศราคารับซื้อเอง (เป็นพ่อค้าคนกลางเอง) เฉลี่ยตันละ 15,000 บ.
2.ชาวนานำข้าวมาจำนำกับรัฐบาล รับเงินไป 15,000 บ./ตัน
3. รัฐบาลนำข้าวไปจัดเก็บยังโกดังของ อคส.
4. อคส.ไม่มีคลังของตนเอง ต้องเช่าจากโกดังของเอกชน (โรงสี, ผู้ส่งออก,ผู้ประกอบการค้าข้าว)
5.รัฐบาลทำหน้าที่ระบายข้าวผ่าน ก.พาณิชย์ เปิดขายให้เอกชนใน-ต่างประเทศ เก็บเพื่อความมั่นคงตามสัดส่วน


1.ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
2. ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น
3.สร้างอำนาจการต่อรองให้ตลาดข้าวไทย
4.ชาวนามีทางเลือกขายข้าวมากขึ้น ไม่ถูกกดราคาจากโรงสีเจ้าเดียว
5.กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม
6.ยกระดับราคาข้าวทั้งระบบ
7.มูลค่าส่งออกข้าวไทยปี 2555 เป็นอันดับ 1 ของโลก แซงอินเดีย-เวียดนาม
8.มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวมกับภาษีเพิ่มขึ้น 2-7% (เพิ่มขึ้น7.91 แสนล้านบาท)
9.รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนล้านบาท
ถ้าโครงการจำนำข้าวเป็นโครงการไม่ดี เหตุใดชาวนายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลทำโครงการจำนำข้าวอีก ก็เพราะเงินถึงมือชาวนาโดยตรงไม่ผ่านใคร แต่รัฐบาลชุดนี้โดยนายจุรินทร์ รมว.พาณิชย์ คิดไม่ได้ทำไม่เป็น เพราะรู้จักแต่โครงการประกันราคาข้าว ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์นั่นเอง


งบประมาณที่ใช้ในโครงการดูสูง โดยไม่ได้หักลบจากการขายข้าวได้เงินคืนกลับมาหรือไม่
ในช่วงที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2554/2555 ใช้งบประมาณ 118,656 ล้านบาท , ข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูกาลผลิต 2555 ใช้งบประมาณ 218,170 ล้านบาท, รับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 ใช้งบประมาณ 352,278 ล้านบาท

รวมแล้วรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ใช้งบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2554-2556 รวม 689,104 ล้านบาท มีรายได้จากการขายข้าว 283,442 ล้านบาท เบ็ดเสร็จใช้งบประมาณไป 405,662 ล้านบาท (ที่มาจากรายงานของ ธ.ก.ส.)

นอกจากนี้ ยังมีข้าวเหลืออยู่ในโกดังกว่า 4.8 ล้านตันข้าวสาร (ในปี 2556) ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้นำไปขาย เพราะราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้นตกต่ำ

เมื่อ คสช.ทำรัฐประหาร ในปี 2557 กลับใช้อำนาจผ่าน อคส.เปลี่ยนแปลงเอกสารจัดเกรดข้าวใหม่ พร้อมกับใช้วิธีการสุ่มตรวจแบบ “คนตาบอด” ทำให้ข้าวในสต๊อกกลายเป็นข้าวเกรดอาหารสัตว์ เปิดให้เอกชนประมูลไปทำอาหารสัตว์ ทั้งที่ในกระบวนการส่งมอบข้าวไปโกดัง มีข้าวหายไปจำนวนมาก

หากรัฐบาลขายข้าวตามปกติและเป็นไปตามกลไกตลาด จะได้เงินมาชดเชยงบประมาณหลายแสนล้านบาท การที่ คสช.นำข้าวดีที่ถูกตีคุณภาพให้เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ จึงทำให้ดูเหมือนเกิดความเสียหายจำนวนมาก

จนถึงตอนนี้ คนไทยยังไม่รู้เจตนาที่แท้จริงของ คสช.ในการเปลี่ยนเกรดข้าวในตอนนั้น หรือเป็นเพราะต้องการให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ มีมูลค่าความเสียมากหรือไม่

จนเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 คำพิพากษาของศาลฎีกาฯระบุว่า โครงการจำนำข้าวใช้งบประมาณ 536,908.30 ล้านบาท (เป็นรายการบัญชีค่าใช้จ่ายแยกต่างหากในรายงานการเงินแผ่นดินที่กรมบัญชีกลางจัดทำสำหรับปีสิ้นสุด 30 กันยายน 2558และ 2557 ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการบัญชี)

– เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2563 ธ.ก.ส. ได้รายงานภาระหนี้สินของโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทั้งจำนำข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และเสถียรภาพราคายาง ในปี 2562 รัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ใช้งบประมาณเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรทั้ง 3 รายการ รวมเป็นเงิน 960,665 ล้านบาท

ดังนั้นการที่หลายฝ่ายใช้คำว่า “ความเสียหาย” กับคำว่า “การใช้งบประมาณ” ในโครงการรับจำนำข้าว ค่อนข้างมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความหมายของโครงการรับจำนำไปในเชิงลบ ทั้งที่ในตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาพิสูจน์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นอย่างชัดแจ้ง รวมถึง ป.ป.ช.และอัยการในฐานะโจทย์

สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 1 มาตรา 6 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ข้อ โดยระบุว่าการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้ “บรรลุเป้าหมาย” โดยมีทั้งหมด 7 ข้อ โดยเฉพาะใน 3 แรกนั้น ระบุว่า

1.เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2.เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3.มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ

ในหลักการทางรัฐศาสตร์ หากรัฐบาลไม่ทำตามที่แถลงต่อรัฐสภา ถือว่ามีความผิดพลาดในแง่ของการบริหารจัดการ แต่หากการดำเนินนโยบายก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรง คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจจะยุติการดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาได้ หากไม่ระงับถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งนายกรัฐมนตรีหญิงที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำทุกอย่างตามบทบัญญัติของกฎหมายครบถ้วนแล้ว