“ผู้กองมาร์ค” แนะ รัฐบาล ปัดฝุ่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด กลับมาเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

“ผู้กองมาร์ค” แนะ รัฐบาล ปัดฝุ่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด กลับมาเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

วันที่ 6 เมษายน 2564 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หน้ากาก N95 และเครื่องฟอกอากาศนั้นมีราคาแพง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหลอดลมภูมิแพ้หรือหอบหืด โรคหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ และคนท้อง ที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก และยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้โดยลำพัง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเลื่อมล้ำในสังคม จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดรัฐบาลถึงไม่รีบแก้ไขปัญหานี้สักที ทั้ง ๆ ที่เราทุกคนนั้นมีสิทธิที่จะหายใจเอาอากาศที่ดีเข้าไป

โดยในปัจจุบันได้มีหลายเครือข่าย หลายมหาวิทยาลัย พยายามที่จะผลักดัน ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อทวงสิทธิ ที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรที่จะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ แต่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 ซึ่ง ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่นำเข้าสู่รัฐสภากลับถูกนายกรัฐมนตรีไม่รับรองให้เข้าสู่การพิจารณา เพราะเห็นเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะหากร่างดังกล่าวได้รับการพิจารณา ก็คงไม่มี ส.ส. จากพรรคใดที่ไม่เห็นชอบกับญัตตินี้

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทย มีมติจะเสนอ ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดกลับเข้าสู่รัฐสภาอีกครั้ง โดยในการเสนอร่างในครั้งนี้ จะยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง “ทำโดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้จะต้องสามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้จริง อาทิเช่น

1. แก้ไขปัญหาควันจากเพื่อนบ้านและจากบ้านเราไปบ้านเค้า โดยการเจรจาผ่านกลไกอาเซียน เช่นสนธิสัญญาทวิภาคี (Bilateral Treaty) และขอความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ประสานงานชายแดน (Border Liaison Officers)

2. ลดการเผาป่าเพื่อการเกษตร โดยนำเสนอทางออกอย่างยั่งยืน และจัดทำแผนการเยียวยาที่รวดเร็วและชัดเจน

3. จัดทำภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ค่าธรรมเนียมหรือภาษีเพื่อให้รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

4. จัดทำฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Premium) สำหรับสินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีได้

5. ยกเลิกการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ โดยไทยเราจะไม่ยอมเป็นถังขยะโลกอีกต่อไปแล้ว เพราะอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะนั้นไม่ได้ทำกำไรมากนัก แต่กลับสร้างมลพิษทางน้ำและอากาศให้กับประเทศมากมาย

6. มาตรการส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างจริงจัง รวมถึงการจัดทำมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนได้ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

ซึ่งร่างพ.ร.บ.อากาสสะอาดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหากเรามีพ.ร.บ.แล้ว ก็ยังคงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับการบังคับใช้กฎหมายกันอีก ดังนั้นหากรัฐบาลอยากที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ตามคำที่เคยกล่าว ก็ควรที่จะรับพิจารณาร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด และเปิดสงครามกับฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างจริงจัง//