ส.ส.ก้าวไกล ตีตกข้อเสนอ “ไพบูลย์” ลั่นไม่เอาด้วย ค้านแก้ ม.144 แต่ไม่ชัดบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ส.ส.ก้าวไกล ไม่เอาด้วยแก้ ม.144 ตามที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอ ชี้เป็นการเปิดช่องทุจริตงบประมาณ และ คอร์รัปชัน แต่แทงกั๊กระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

วันที่ 4 เมษายน 2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เเละ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

นายพิจารณ์ กล่าวว่า เป็นที่เเน่ชัดเเเล้วว่า รัฐบาล และ ส.ว.ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เเต่อยากแก้รายมาตราโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นประโยชน์กับเขามากกว่า

พรรคก้าวไกลได้พูดคุยกันถึงรายละเอียดในร่างแก้ไขที่ นายไพบูลย์ ออกมาเสนอ มีหลายประเด็นที่เราไม่เห็นด้วย เช่นการขอแก้มาตรา 144 เรื่องที่ให้ ส.ส.แปรญัตติงบประมาณได้ โดยอ้างว่าเพื่อ ส.ส. จะได้มีงบลงไปช่วยประชาชน แต่เรามองว่า เรื่องอำนาจในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ควรมอบให้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่ตัว ส.ส. หากแก้ไขไม่ให้ ส.ส.แปรญัตติงบได้จริง จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรายมาตราหรือทั้งฉบับ แต่อยากให้แก้ไขเรื่องต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเอง เหมือนเช่นกรณี ครม. มีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร นั้น มีปัญหามาก เพราะแทนที่จะแก้ไขให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล แต่กลับแก้ไขเพื่อปกปิด

สงวนท่าที “บัตรเลือกตั้ง” 2 ใบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรณีมีการเสนอการแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิมนั้น นายพิจารณ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากออกตัวว่าควรแก้หรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายมองว่า พรรคก้าวไกล ได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ต้องยอมรับว่าบัตรใบเดียว หรือระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ 60 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมไร้ประสิทธิภาพ มีสูตรคำนวน ส.ส. ที่ตลก เพราะคะเเนนแค่ 3-4 หมื่น ก็ได้เข้าสภาฯแล้ว การแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งจึงต้องคุยถึงรายละเอียดว่าจะแก้อย่างไร

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า การกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เเบบปี 40 ใช่ว่าจะสะท้อนเสียงประชาชนทั้งหมด ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งปี 54 พรรคเพื่อไทย ได้คะเเนนป็อบปูลาร์โหวตเเบบเเบ่งเขต 44 เปอร์เซ็นต์ และได้ 48 เปอร์เซ็นต์ในเเบบบัญชีรายชื่อ แต่กลับได้ ส.ส. ในสภา 57 เปอร์เซ็นต์ มันอาจไม่สะท้อนได้ดีพอ ฉะนั้นการกลับไปใช้บัตรสองใบเเบบปี 40 ใช่ว่าจะดีกว่าปัจจุบันทั้งหมด

พรรคก้าวไกล มีการพูดถึงกรณีวงหารือของนักวิชาการ ที่ออกมาเเสดงความเห็นกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบผสม (Mixed Member Proportional : MMP) ซึ่งอยู่ในร่างสมัย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไว้ในปี 58 แต่สุดท้ายถูกคว่ำร่างทิ้งไป ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบ MMP นักวิชาการมองว่าได้รับการยอมรับกว่าของปี 40 ในหลายประเทศใช้ เช่น ยุโรป อเมริกาใต้ เป็นการสะท้อนเสียงประชาชน แม้จะใช้บัตร 2 ใบ แต่เอาคะเเนนดิบบัญชีรายชื่อมาคำนวณ ส.ส. ที่พึงมี ซึ่งชัดเจนเเละตอบโจทย์เสียงประชาชนมากกว่า